วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2552

มิติเวลา กับอ่านความฝันของไอน์สไตน์

มิติของเวลา ก่อนนอนหลับ น่าจะอ่านความฝันของไอน์สไตน์

เมื่อ ปี พ.ศ.2548 ที่ผ่านเลย บางคนอาจจะไม่ทราบว่า ทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษของไอน์สไตน์ มีอายุครบ 100 ปีแล้ว แม้ว่า เวลาจะยาวนานขนาดนั้น แต่การคิดทฤษฎีของไอน์สไตน์ ยังคงเป็นเรื่องน่าสนใจเสมอมา และความฝันของไอน์สไตน์ (Einstein’s Dreams) หนังสือเล่มนี้ ชวนเชิญให้นึกถึง นักวิทยาศาสตร์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเคยพูดไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ด้วยคำพูดนี้ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆคน รวมทั้ง น่าจะเป็นเหตุให้ “อลัน ไลต์แมน” (Alan Lightman) อาจารย์สอนฟิสิกส์ และเขียนบทความทางวิทยาศาสตร์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ (MIT) เกิดสร้างจินตนาการนวนิยาย “ความฝันของไอน์สไตน์” ความฝันของตัวละครที่ชื่ออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์) จึงเต็มไปด้วยจินตนาการถึงโลกและเวลา ในรูปแบบหลากหลาย โดยมีพื้นฐานอยู่บนหลักการทางฟิสิกส์ และการเขียนนวนิยายแนวเหนือจริง

โครงเรื่องของนวนิยาย ผูกร้อยทำให้เรารู้ว่าเหตุการณ์อยู่ในฉากและช่วงเวลาใด มันมีการเน้นบอกไว้ว่า ช่วงเวลาใด และสลับฉากของนวนิยาย ในเรื่องราวความฝันอันเกี่ยวกับตัวของไอน์สไตน์ โดยเนื้อเรื่องกลับเป็นความพยายามของผู้เขียนนวนิยาย ที่จินตนาการค้นลึกเข้าไปในความคิดของไอน์สไตน์ ในช่วงที่เขาคร่ำเคร่งหมกมุ่นอยู่กับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ซึ่ง “เขาฝันมากมาย ฝันเรื่องกาลเวลา ความฝันเข้าเกาะกุมงานวิจัยของเขา ฉีกทึ้งเขา กลืนกินเขา จนบางครั้งไม่รู้ว่าตัวเองหลับหรือตื่นอยู่”

ซึ่งผมขอบอกว่า นวนิยาย ความฝันของไอน์สไตน เขียนเรื่อง "สลับฉาก" ไปๆมาๆ ได้แปลกประหลาด ทำให้คนอ่าน มึนงง กับโลกแห่งความฝันได้เช่นกัน ระหว่างความฝันของไอน์สไตน์ และเรื่องราวชีวิตของเขา ... ผมเก็บเนื้อความ มาเล่าสั้นๆ โดยที่คนเขียน สมมติปรากฏการณ์เกี่ยวกับโลก-เวลา ดังนี้

โลกคนเห็นภาพอนาคตชั่วพริบตา
โลก ที่คนจะแลเห็นภาพอนาคตวาบขึ้นมา ชั่วแปลบ สำหรับคนที่เห็น ภาพอนาคตตัวเอง นี่คือโลกของความสำเร็จ อันแน่นอน สำหรับคนที่ไม่เห็นอนาคต นี่คือโลกอัน เอื่อยเฉื่อยจะเข้าเรียนมหา'ลัย โดยไม่รู้อาชีพในอนาคต

ดังนั้น โลก แห่งฉาก ภาพอนาคต วาบขึ้น ชั่ว แวบ โลกนี้ การเสี่ยงจะไม่เกิดขึ้น บรรดาคนมองเห็นอนาคต ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงอะไร ส่วนผู้ยังไม่เห็น..ก็รอคอยภาพนิมิต โดยไม่เสี่ยงว่าจะ ทำอะไร (จุดนี้ ทำให้ผม นึกถึงการ์ตูน ที่ผู้เขียนคือ คนเขียนโดราเอมอน เขียนงานเรื่องการ์ตูนแนวนี้สั้นๆไว้ การตัดสินใจ ทีจะ “เลือก” กับชีวิตในอนาคต)
โลกแห่งฉาก ภาพอนาคต มีอยู่บ้าง ที่เห็นภาพ อนาคต แต่ทำเพื่อ ปฏิเสธ มันทุกอย่าง หญิงสาวปล่อยตัว ให้ตัวเองหลงรักชายคนหนึ่ง แม้ว่าจะเห็นภาพ อนาคตว่าจะได้แต่งงาน กับชายคนอื่น ....
ใครเหนือกว่ากันในโลกนี้ คนเห็นอนาคตแล้ว ใช้ชีวิตแบบเดียว หรือ คนไม่เห็นอนาคต และเฝ้ารอคอย ที่จะใช้ชีวิต หรือ คนที่ปฏิเสธอนาคตแล้ว ใช้ชีวิตสองแบบ

เวลา
นวนิยายเรื่อง นี้ยังพูดถึง เรื่อง หากเวลาไม่ใช่ปริมาณ แต่เป็นคุณภาพ ที่ชั่วขณะหนึ่ง คุณ อยู่กับใครสักคน ชั่วกาลนาน
โลก คนมีชีวิต แค่วันเดียว
โลก ที่เวลาไม่ต่อเนื่อง
โลก ที่ปราศจากอนาคต คือ การจินตนาการ ถึง คนที่ไม่สามารถ คิดเกี่ยวกับอนาคต นั่นคือไม่มีใคร่ครวญ ต่อผลของการกระทำได้ เพราะฉะนั้นบางคน จึงหมดเรี่ยวแรง ไม่ยอมทำอะไร อยู่บนเตียงอย่างเดียว
โลก ที่มีชีวิตนิรันดร์ หละ เป็นเช่นไร ? ซึ่งคนเขียนได้จินตนาการ สร้างเรื่องผูกกับทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ เรื่องเวลา ได้อย่างมันส์

ผมชอบเรื่อง โลกปราศจากความทรงจำ ในบทหนึ่งของนวนิยายนี้ เล่าว่า
ทุกคนมีคัมภีร์ชีวิตของแต่ละคน ชาย-หญิง ผู้สูงอายุ อาจจะอ่านหน้าต้นๆ เพื่อรู้เรื่องตัวเองสมัยวัยเยาว์ หรือ อาจจะอ่านตอนจบเพื่อรู้เรื่องตัวเองในช่วงปีหลังๆ

สุดท้ายความฝันของไอน์สไตน์ ปรากฏในเวลาของชีวิตจริงๆของเขา “สร้างสรรค์ผลงานสำเร็จ คือ ทฤษฎีสัมพันธภาพ” ซึ่งไอน์สไตน์ กว่าจะตีความสำเร็จ ก็หมกมุ่น กับหลากหลายฝัน และสร้างความคิดอันเปลี่ยนแปลงโลก

นวนิยายความฝันของไอน์สไตน์ สำหรับตัวของผม ทำให้นึกถึงการจินตนาการโลก ในระบอบการเมืองต่างๆ ในนวนิยายปรัชญาการเมือง เขาเล่าเรื่องว่า การิทัต ท่องไปในระบอบการเมืองต่างๆ แล้ว เผยจุดอ่อนของประชาธิปไตย เผด็จการ สังคมนิยม ฯลฯ ให้เห็นปรากฏต่อสายตาของผู้อ่าน ซึ่งนวนิยายทำหน้าที่ให้อารมณ์ ความคิด และที่สำคัญ คือ จินตนาการของเรา จะเลือกดำเนินชีวิตแบบใด

แล้วคุณ จะมีเวลากับความฝัน จินตนาการของเราเอง ต่อโลกนี้แบบใด?
ดังนั้น คุณลองอ่านความฝันของไอน์สไตน์ เผื่อว่า จะเกิด จินตนาการ มากมาย


อรรคพล สาตุ้ม

วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

ย้อนดูภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’: สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม

“พระเจ้าช้างเผือก” ผลงานของปรีดี พนมยงค์ ที่เหนือกว่าชาตินิยม
อรรคพล สาตุ้ม

บทนำ·
สื่อภาพยนตร์เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งปรีดี พนมยงค์ เขียนนวนิยาย กับสร้างภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก”(The King of the White Elephant) โดยมีเนื้อเรื่อง ที่กล่าวถึงเหตุการณ์คล้ายคลึงกับปัญหาทางประวัติศาสตร์ของสงครามพม่ารบไทย พระมหากษัตริย์ และวีรกรรม อันเป็นอุดมคติว่า ปกป้องราษฎรจากภัยสงครามเพื่อสันติภาพ เพราะพระเจ้าหงสา ซึ่งเป็นทรราช แล้วมีจิตใจโหดเหี้ยมทารุณมักมากในกาม ส่งกองทัพบุกประเทศ เนื่องจากพระองค์ไม่ยอมให้ “ช้างเผือก” ตามที่กษัตริย์หงสาขอไว้ ดังนั้น พระเจ้าจักราได้ยกกองทัพไปเผชิญทัพหงสาที่ชายแดน เพราะไม่ต้องการให้ราษฎรเดือดร้อนและได้ท้าทายให้กษัตริย์ของหงสาออกมาต่อสู้กัน “ตัวต่อตัว” บนหลังช้างเพื่อไม่ให้ทหารต้องบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งพระองค์ได้ชัยชนะและแทนที่จะจับทหารศัตรูเป็นเชลย กลับทรงประกาศสันติภาพว่าอโยธยา มิได้เป็นศัตรูกับชาวหงสา แต่เป็นศัตรูกับกษัตริย์หงสาที่โหดเหี้ยมและปล่อยทหารศัตรูกลับไปสู่อิสรภาพ
ในที่สุด พระเจ้าจักรา คือ กษัตริย์แห่งอโยธยา “ผู้เป็นธรรมราช” ได้รับนามใหม่ว่า “พระเจ้าช้างเผือก” ผู้มีเมตตาต่อประชาชนของพระองค์ พระองค์ไม่โปรดความโอ่อาหรูหราในราชสำนัก ไม่โปรดขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัย เช่น ไม่ประสงค์จะมีพระสนมมากมายถึง 365 นาง แต่พระองค์โปรดการขับช้าง ซึ่งสะท้อนคติโลกทัศน์ทางสิ่งแวดล้อมออกมา เกี่ยวกับคน-สัตว์ คือ ช้าง มีบทบาทสำคัญ ดังที่ปรากฏจำนวนมากในภาพยนตร์อีกด้วย

ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” โดยปรีดี พนมยงค์ สร้างภาพยนตร์ภายใต้สถานการณ์ทางการเมือง ที่มีการเรียกร้องสร้างกระแสชาตินิยมไทยขึ้นมาของกลุ่มจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในยุคก่อนสยามเป็นไทย มีอิทธิพลต่อภาพยนตร์ ที่เกี่ยวกับชาตินิยมของจอมพล ป. แต่ว่าภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” แตกต่างออกไปจากอุดมการณ์ชาตินิยมดังกล่าว เพราะการเกิดขึ้นในกระแสของสงครามโลกครั้งที่2 นั้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนภัยของสงคราม ดังนั้น ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” คือ ตัวแทนของอุดมการณ์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการสื่อความหมายของสันติภาพ และภายใต้ความขัดแย้งของกระแสชาตินิยม อันแบ่งเขา-แบ่งเรา ดังที่ว่า ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” บ่งชี้ให้เห็นว่า สงครามของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ โดยไม่เกิดสันติสุขทางใจ


ด้วยเหตุดังกล่าวในความสำคัญของงานวิจัยนี้ จะช่วยให้เกิดการค้นคว้า ข้อมูล หลักฐานในบริบทประวัติศาสตร์ของผู้เขียนนวนิยาย และสร้างภาพยนตร์ ควบคู่ไปกับการตีความผลงานภาพยนตร์ ทำให้อ่านความหมาย ที่ซ่อนรหัสของภาพยนตร์ออกมา สะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ของชาตินิยม และสิ่งที่ผู้สร้าง คือ ปรีดี พนมยงค์ กับตัวบทของภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ที่จะรื้อให้เห็นความหมายที่เหนือกว่าชาตินิยม ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยการช่วงชิงของปรีดี ไปสู่ความหมายของการให้ความสำคัญกับสัตว์ คือช้าง ถึงคน อันเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก.

แนวคิดทางการวิจัยเรื่องชาตินิยมในสื่อภาพยนตร์
ผลงานชุมชนในจินตนาการของเบเนดิก แอนเดอร์สัน สามารถนำมาวิเคราะห์ภาพยนตร์ เกี่ยวกับชาตินิยม[i] โดยมีอิทธิพลต่อวงการศึกษาภาพยนตร์ ซึ่งการสร้างชุมชนในจินตนาการ ผ่านประวัติศาสตร์ กฎหมาย ความเชื่อ แผนที่ประเทศ สื่อ[ii] ฯลฯ เป็นต้น

ผู้วิจัยจะขอกล่าวสรุปแบบรวบรัดว่า แนวคิดในการศึกษาชาตินิยม มีเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่ ทุนนิยม นวัตกรรมการพิมพ์ กับความหลากหลายทางภาษานั้น มีปฏิสัมพันธ์กับระบบทุนนิยม และเทคโนโลยีการพิมพ์ ซึ่งต่อมาถูกนำแนวคิดมาขยายเสนอเชิงรูปธรรมในการอธิบายเรื่องแผนที่ ในผลงานของธงชัย วินิจจะกูล[iii] คือการขยายความว่า แผนที่สร้างอำนาจให้แก่ “อาณาเขตของสยาม”ในกระบวนการของรวมรัฐชาติ ที่เป็นชุมชนในจินตนาการเข้าร่วมกัน ส่วนผู้วิจัยนำเสนอว่า “ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก” ในรูปแบบของนวนิยาย และภาพยนตร์ ต่อต้านการตกเป็นอาณานิคมของพม่า โดยอโยธยาต้องป้องกันข้าศึก(คือพม่า ไม่ใช่ฝรั่งเศส) จากการช่วงชิงช้างเผือก

แนวคิดที่เหนือกว่าชาตินิยมของผู้วิจัย คือ ไม่ใช่ช่วงชิงเขตแดน แต่เกี่ยวกับหลักธรรมทางปรัชญาพุทธศาสนา คติเกี่ยวกับการเวียนว่ายตาย แล้วเกิดเป็นคน หรือสัตว์[iv] และช้างเผือก เชื่อมโยงคติไตรภูมิ ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติว่า คนกับสัตว์ล้วนตกอยู่ในสังสารวัฎเดียวกัน ดังที่ ผู้วิจัยอ่าน นวนิยาย และภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกต้องการจะสื่อสารความหมายเกี่ยวกับระบบนิเวศ-สิ่งแวดล้อม ดังปรากฏคติธรรม และธงช้างในภาพยนตร์ ที่พระเจ้าช้างเผือก เลือกมเหสีองค์เดียวแล้ว โดยมีช้างจำนวนมากแทนมเหสีจำนวนมากเพื่อสันติสุขในหลักการธรรมะ โดยต่างกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ อันเกี่ยวกับ เทคโนโลยีทางการทหาร ส่งผลกระทบในความความคิด “ร่างกาย”สมัยใหม่ ที่ปรากฏในบริบทสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น ผู้วิจัยย้อนนิยาม “ชาติภพ” เกี่ยวกับ“อาณาเขต”ในคติไตรภูมิ ที่ “ร่างกายตายแล้ว” เวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์โลก โดยมีความแตกต่างของ“ชาติ” ภายใต้สัญลักษณ์ “อาณาเขตของแผนที่” (territory of map) ก็สะท้อนองค์ประกอบของชาตินิยม ที่แตกต่างกันของตัวแทนของชาติ คือ “ช้างเผือก” จึงมีในการวิเคราะห์สื่อภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก”

ข้อสังเกตเชิงสัญลักษณ์ “ช้างเผือก” ตั้งแต่ยุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ-รัชกาลที่ 8

ผู้วิจัย มองประเด็น “ช้างเผือก” มีปรากฏในมุมมองของแอนนา ซึ่งเรียกแหม่มแอนนาว่า ตัวแทนสตรี ฝรั่ง ผิวขาวก็ได้ และมีความรู้ จนเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ในสยาม เมื่อเป็นครูสอนภาษาอังกฤษของรัชกาลที่ 5 ดังที่สะท้อนว่า ช้างเผือก คือ ความเชื่อว่าเกี่ยวกับพุทธศาสนาของสยาม และการนับถือช้างเผือก หรือ White Elephant แน่นอนว่าแอนนา กล่าวถึงปรัชญาทางพุทธศาสนา และความจำเป็นของพุทธองค์ ที่เปลี่ยนร่างเวียนว่ายตาย แล้วเกิดเป็นสัตว์สีขาว มีดังว่า หงส์ นกกระสา นกพิราบ นกกระจอก ลิง และช้าง เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว แอนนา อธิบายแนวคิดดังกล่าวเกี่ยวกับจิตวิญญาณที่ดี และยิ่งใหญ่[v] ซึ่งได้บอกว่าช้างเผือก เป็น ลักษณะที่เชื่อว่า คือ จิตวิญญาณของกษัตริย์ หรือ วีรบุรุษ แต่ว่าความคิดของแอนนา ในหนังสือก็มีความน่าสนใจ ที่สะท้อนเรื่องยุคสมัยก่อน โดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า
แหม่มแอนนาประณาม Polygamy หรือ ผัวเดียว เมียหลายๆคน[vi] เป็นต้น แต่ว่าสัญลักษณ์เกี่ยวกับช้าง มีจำนวนมาก จึงขอเน้นที่ช้างเผือกประจำรัชกาล และธงช้างเผือก เป็นหลัก ดังนี้

ในรัชกาลที่ 5 มีช้างเผือกทั้งหมด 19 เชือก ซึ่งมีมากกว่ารัชกาลที่ 4 ที่มี 14 เชือก ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงนำธงชาติ มาเป็นสัญลักษณ์ คือ ธงช้างเผือกของสยาม เป็นตัวแทนในด้านการเมืองเกี่ยวกับ “ชาติ”ของพระองค์ แต่ว่าความคิดเรื่องไตรภูมิ ก็เปลี่ยนไปตามความคิดของแผนที่ ภายใต้อิทธิพลวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งที่จริงแล้ว ช้างเผือก คือโรคชนิดหนึ่งของช้าง ดังที่ ส.ธรรมยศ กล่าวไว้[vii] ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดทางวิทยาศาสตร์ คือการบูชาช้างเผือก ยังไม่ถูกเปลี่ยนไป
แต่ว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป แล้วทำไมช้างเผือก ค่อยๆหายไป หรือไม่มีช้างเผือกในยุครัชกาลที่ 6 (มีจำนวน 1 เชือก) ได้มีการตราพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่าพระพุทธศักราช 2464 ขึ้น โดยกำหนดให้ช้างป่าเป็นของหลวงสำหรับแผ่นดิน ผู้ใดจะจับไปใช้สอยต้องขออนุญาตรัฐบาล พระราชบัญญัตินี้มุ่งหมายจะช่วยป้องกันอันตรายแก่ช้างป่า และบำรุงพันธุ์ช้างป่าให้เจริญขึ้นด้วย ในมาตราเดียวกันนี้ ได้กำหนดบทลงโทษว่า ผู้ใดมีช้างสำคัญ ช้างสีประหลาด หรือช้างเนียม แล้วปล่อยเสียหรือปิดบังซ่อนเร้นช้างนั้นไว้ ไม่นำขึ้นถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500 บาท แต่โทษนี้ไม่ลบล้างการที่ช้างนั้นต้องริบเป็นของหลวง จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่มีชนิดใดเรียกว่า ช้างเผือกเลย[viii] และรัชกาลที่ 7(มีจำนวน 1 เชือก) กลับตรงข้ามกันเลย มีจำนวนช้างเผือกน้อยมาก อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับช้างเผือก ดังที่มีการเปลี่ยนธงช้าง เป็นธงไตรรงค์[ix] ว่าเกี่ยวกับการเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และถกเถียงว่าจะใช้ธงไตรรงค์ หรือธงช้างในสมัยรัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ.2470[x] โดย ปริศนาของสัญลักษณ์ช้างเผือกประจำพระองค์ ลดจำนวนไป มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า เกิดปัญหาทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จึงหาช้างเผือกได้จำนวนน้อย เพราะว่า ในที่สุดแล้ว “ช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 8[xi] หายไป หรือไม่มีช้างเผือก” (พ.ศ.2477-89) แม้ว่าทางรัฐบาล ในพ.ศ.2480-81 จะประกาศให้มีการคล้องช้างขึ้นอีก ที่ลพบุรี เพื่อฟื้นฟูประเพณีเดิม ที่หยุดไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่ก็ “ไม่มีช้างเผือก” ซึ่งในเวลาต่อมามีการสร้างภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก หรือท้าทายสัญญะของชาติ ดังที่มีการสร้างสัญลักษณ์ของคณะราษฏร ที่สร้างชาติเปลี่ยนสยามเป็นไทย และสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎร โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ซึ่งตรงข้ามกับรูปแบบโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง[xii] ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวข้องบริบทของภาพยนตร์ของเรื่องพระเจ้าช้างเผือก โดยปีพ.ศ. 2483 หลังสงครามกับฝรั่งเศส ปัญหาเรื่องปักปันเขตแดนแม่น้ำของหรือโขง เกิดปรากฏการณ์ในหนังสือนวนิยาย ที่มีสัญญะแฝงนัยยะสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ ในฐานะคณะราษฎร และผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งมีบทบาทเขียนนวนิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือก และผลิตภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก”

ประวัติเกี่ยวกับการสร้างชาติ คือ อาณาเขตของสยาม และบริบทชุมชนในจินตนาการ : บางแง่มุมของการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นตัวแทนความคิดในยุค ร.5-2477

แผนที่แห่งชาติในรัชกาลที่ 5
เมื่อเกิดปัญหาการสร้างอาณาเขตของรัฐชาติ ตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 ก็ได้นำเหตุผล และเทคโนโลยีใช้ผลิตแผนที่ ทั้งที่ยุคก่อนไม่จริงจังเรื่องพรมแดน แต่โดนแรงบีบจากการขู่ทำสงครามจากตะวันตก เพราะว่าสยามไม่ทันสมัย จึงต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดภูมิศาสตร์

ดังนั้น การรับรู้ธรรมชาติแบบใหม่เพิ่งเกิดรัชกาลที่ 4 กลายเป็นรากฐานความรู้ ความจริง เชิงประจักษ์ทางกายภาพ ก่อนหน้านี้ สยามรับรู้และให้ความหมายแก่ภูมิศาสตร์ด้วยชุดความรู้ทางพื้นที่แบบไตรภูมิ แต่ว่าเหตุภัยจากการล่าอาณานิคม ก็นำไปสู่ อาณาเขตว่าด้วยภายใต้จุดหนึ่งในพลังแผนที่ กับการต่อรองระหว่างสยามและฝรั่งเศสเพื่อเข้าถึงภูมิภาคลาวในแม่น้ำโขงตอนบน ก็เกิดการหายไปของอาณาเขตสยาม ซึ่งสิ่งนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริงของสยาม แต่พลังของตัวตนภูมิศาสตร์ของสยามและการรวมอาณาเขต(Territory) สิ่งที่หายไปกลับปรากฏเข้ามาในแผนที่ เพราะเพื่อการช่วงชิงสร้างแผนที่ในสังคมสมัยใหม่[xiii] ซึ่งแผนที่ช่วยเป็นอำนาจของการสร้างเขตแดนที่ชัดเจน และผนวกกลืนล้านนาได้ด้วย(รวมถึงพยายามกลืนด้านศาสนา สร้างพรมแดนของภาษาด้วย)
ดังกล่าวว่า สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคปฏิรูปที่ดิน[xiv] มีการใช้ช้างเพื่อธุรกิจการขนไม้สักในภาคเหนือกับอังกฤษ และ สยามถูกดึงเข้ากระแสพัฒนาแนวตะวันตกอย่างไม่อาจหลีกได้ เมื่อพิจารณาในเชิงการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมแล้ว มีการจัดการทรัพยากรใหม่ตามระบบตะวันตก ผลกระทบจากการเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส ในกรณีเสียดินแดนฝั่งซ้ายและฝั่งขวาแม่น้ำโขง เขตเมืองน่าน ดังกล่าว คือสืบเนื่องจากบทบาทการค้าของคนจีน ที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการค้า มีผลกับที่เชียงใหม่ อันเป็นศูนย์กลางของล้านนา แต่ว่าการขัดแย้งทางภาคเหนือ กบฏพญาผาบ เป็นต้น ที่จะจัดการนายภาษีอากรชาวจีน และ กบฏเงี้ยว กบฏพระศรีอาริย์[xv]ต่างๆ ซึ่งเกิดภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สะท้อนความขัดแย้งหัวเมืองลาว (หรือประเทศราช) และยังมีหัวเมืองมลายู อื่นๆ ในระยะเปลี่ยนผ่านไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาสที่สำคัญนี้ จึงมีผลต่อบทบาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงปกป้องอาณาเขตของสยาม

จากแผนที่สยาม สู่อาณาเขตแห่งชาติในรัชกาลที่ 6
การปฏิรูปสืบต่อจากรัชกาลที่ 5 ทรงยกเมืองขึ้นเป็นจังหวัดนั้น กระบวนการการสร้างสำนึกของชาติยังไม่สิ้นสุด ถึงรัชกาลที่ 6 เกิดปัญหาในปีพ.ศ. 2455 คือ กบฏ ร.ศ. 130 และในปีพ.ศ. 2458 (ห่างกัน 5 ปี) โปรดให้รวบรวมมณฑลต่างๆ ออกรวมเป็น 4 ภาค ปักษ์ใต้ พายัพ อีสานและอยุธยา ส่วนกรุงเทพมหานครนั้นเป็นอีกมณฑลหนึ่งต่างหาก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของรัฐราชสมบัติสยาม ในขณะนั้น กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลง และการท้าทายอย่างใหม่ โดยกระแสความคิดทางการเมืองการปกครอง และลัทธิสังคมเศรษฐกิจ เช่น คอนสติติวชั่น ปาลิเมนต์(กรณีเทคโนโลยีการพิมพ์หนังสือ สมัยรัชกาลที่ 5 มีคนอย่างเทียนวรรณ เป็นต้น ) ความคิดแบบเก๊กเหม็ง รีปับลิก อานาคิช โสเชียลิสต์ ฯลฯ สะพัดอยู่ในหมู่ชนชั้นกลางทั้งในและนอกราชการ อันเป็นชนชั้นนักอ่าน นักเขียน นักแปลในสยาม สุดที่พระราชอำนาจสมบูรณ์ทางทฤษฎี ทว่าถูกจำกัดในทางปฏิบัติจากสิทธิสภาพนอกเขตของฝรั่ง และระบบราชการสมัยใหม่ ซึ่งเติบโตพร้อมกับทุนจีนเสรี ต่างๆ ในสถานการณ์นั้น รัชกาลที่ 6 ทรงพระนิพนธ์ ยิวแห่งบุรพทิศ (ซึ่งมีผลกระทบต่ออัตลักษณ์จีนสยาม) และอุตตรกุรุ : ดินแดนอัศจรรย์ของเอเชีย คือ รัชกาลที่ ๖ ทรงเปรียบเทียบแนวคิด ยูโทเปีย และลัทธิโซเชียลิสต์สมัยใหม่ โดยเปรียบว่า สิ่งนั้นมีอยู่ในไตรภูมิ-อุตรกุรุทวีป-ยุคพระศรีอาริย์ และดุสิตธานีเป็นเมืองทดลองประชาธิปไตย ฯลฯ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป ที่มีโลกทัศน์เปลี่ยนไปเกี่ยวกับศิลปะ เกิดกรมศิลปากร แต่ขอยกตัวอย่างโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปความรู้เกี่ยวกับสัตว์ในยุครัชกาลที่ 6 ด้านทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอาณาเขตของแผนที่สมัยใหม่ จึงเริ่มมีการอนุรักษ์สัตว์น้ำ ตามแผนที่ได้ติดต่อ ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิท ผู้ชำนาญเรื่องปลามาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้สำรวจพันธุ์สัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำทะเลของไทยเกือบทั่วราชอาณาจักร ซึ่งความรู้อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และก้าวต่อไปก็คือ ตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำ คือ กรมประมง[xvi] โดยตามรอยเขตแดนแผนที่ของสยาม ซึ่งแนวคิดการเวียนว่ายตายเกิด แล้วเกิดเป็นสัตว์ กลับมาเป็นคน ก็เปลี่ยนไปตามความคิดชีวทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ที่มองสัตว์แยกออกจากมนุษย์[xvii] โดยช้างเผือก ก็อาจจะถูกเปลี่ยนความคิดเหมือนกับจากธงช้างเป็นธงไตรรงค์

แน่นอนว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการสร้างธงชาติใหม่ และการธงชาติแทนการรักษาตัวตนของอาณาเขตชาติ ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่วนใหญ่ประสงค์จะเห็นไทยเข้าสู่สงครามโดยเข้าข้างฝ่ายตน มิฉะนั้นสัมพันธมิตรจะต้องตกอยู่ในฐานะลำบาก เพราะต้องคอยปกป้องอาณานิคมของตนในเอเชียตะวันออกเฉียงให้พ้นจากการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม[xviii]โดยประสบความสำเร็จได้รับชัยชนะ แล้วมีภาพต้อนรับทหารไทย จากหนังสือดุสิตสมิต เทพยดาโปรยดอกไม้[xix]ซึ่งสะท้อนว่าเทพยดา ก็เชื่อมโยงกับความคิดชาตินิยม และนำเทพยดามารับใช้การทหาร ภายใต้บริบท “ร่างกายกำลังเปลี่ยนไป” ดังนั้น เมื่อสยามก็เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ที่มีประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส โดยเจ้าอาณานิคมนั้น ก็ควบคุมเขตแดนลาว เขมร พม่า เรียบร้อยปลอดภัยสะดวกแก่การปกครองอย่างมาก โดยส่วนเรื่องภาพยนตร์ที่สำคัญ คือ นางสาวสุวรรณในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยฮอลลีวู้ดของอเมริกา คือฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งภายใต้เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ แล้วภาพยนตร์จะเป็นสื่อ ที่มีความสำคัญทางธุรกิจการแข่งขัน ดังที่มีสยามภาพยนตร์บริษัท ซึ่งเป็นกิจการของพ่อค้าคนจีนผูกขาดซื้อหนังฮอลลีวู้ด แม้ว่าจะมีการสนับสนุนในรัชกาลที่ 6 ทรงให้ตั้งสยามนิรามัย จำกัด ที่มีพี่น้องตระกูลวสุวัต ก็มาแข่งขันสู้พ่อค้าจีนไม่ได้ต้องปิดกิจการไป[xx] ดังนั้น ภาพยนตร์ มีพลังมากกับสังคม ดังจะกล่าวต่อไป

อาณาเขตแห่งชาติ และภาพยนตร์ในรัชกาลที่ 7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงนิยมการถ่ายภาพยนตร์ และมีการสร้างโรงภาพยนตร์ ที่ยิ่งใหญ่อย่างเฉลิมกรุง มีการสันนิษฐานว่า กิจการภาพยนตร์เป็นพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และของรัฐบาลในการที่จะควบคุมกิจการภาพยนตร์ในฐานะเป็นมหรสพและสื่อสารมวลชน ที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง[xxi] ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรก ที่พี่น้องวสุวัต ประเดิมถ่ายทำได้แก่ภาพยนตร์ข่าว สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณ ีเสด็จนิวัต พระนคร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ต่อมาภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉาย สู่สาธารณะที่ โรงภาพยนตร์พัฒนากร ในวันที่ 7ธันวาคม พ.ศ. 2474 ได้รับความชื่นชม จากประชาชนเป็นจำนวนมาก[xxii]


ซึ่งในยุคของพระองค์ มีภาพยนตร์เรื่อง “ช้าง” เข้ามาใช้ฉาก สถานที่ ถ่ายทำในประเทศสยามโดยฮอลลีวู้ด (โดม สุขวงศ์ ไปตามหาภาพยนตร์เรื่องนางสาวสุวรรณ ยุครัชกาลที่ 6 แต่กลับพบภาพยนตร์เรื่องช้างแทน) และนำมาฉายในประเทศสยาม[xxiii] อันสร้างความตื่นเต้น ไม่น้อยแก่ประชาชนชาวสยาม หลังจากไม่เปลี่ยนธงไตรรงค์ กลับไปเป็นธงช้าง (ซึ่งเคยปักในดินแดนของลาว ก่อนที่เราจะเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส) ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2471 ภาพยนตร์เรื่องเกี่ยวกับช้าง ซึ่งในยุคอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด ก็ประชาสัมพันธ์เต็มที่ กับเรื่อง“ช้าง”ที่ดูจะเป็นตัวแทนของสยามกลับมาได้รับความนิยม โดยภาพยนตร์บอกเล่าถึง “…การดำรงชีวิตรอดของชาวบ้านป่าในประเทศไทย การต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และสิงสาราสัตว์เพื่อความอยู่รอด ความมโหฬารของการถ่ายทำอยู่ที่เรื่องโขลงช้างที่พากันมาทำลายหมู่บ้าน ในที่สุดหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ย่อมเหนือสัตว์ ไม่ว่าจะดุร้ายใหญ่โตเพียงใดมนุษย์ก็สามารถเอามาฝึกใช้ประโยชน์ได้เสมอ[xxiv]…” สรุปให้ไม่ยากเกินไปว่า ภาพยนตร์เปลี่ยนโลกทัศน์ของคนสมัยนั้น ในเรื่องการต่อสู้คนกับธรรมชาติ หรือเอาชนะธรรมชาติ และการที่คนสามารถควบคุมสัตว์ได้ ซึ่งเหมาะแก่ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ประโยชน์จากช้าง ที่แตกต่างจากโลกทัศน์เรื่องเคารพในธรรมชาติ และสรรพสัตว์ในกฎแห่งกรรม ที่เวียนว่ายตาย แล้วเกิดมาชดใช้กรรม อันสะท้อนการไม่เบียดเบียนกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยี โดยภาพยนตร์เข้ามาก็มีกระแสพระราชดำรัสของพระปกเกล้าฯ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของภาพยนตร์อย่างมาก มีการตั้งโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง เป็นต้น[xxv] เกิดการตื่นตัวทางภาพยนตร์เรื่องแรก ที่มีเสียง คือพูดได้ ชื่อว่า “หลงทาง” ในวันที่ 1 เมษายน 2475[xxvi]ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของสยามขณะนั้น(ต่อมามีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่) และเป็นวันเริ่มต้นการเฉลิมฉลองพระนคร 150 ปีพอดี ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม

อาณาเขตแห่งชาติในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
การศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้น มีผลงานหนังสือมากพอสมควร แล้วการวิเคราะห์ด้วย ซึ่งผู้วิจัยจะไม่อ้างอิงทั้งหมด โดยกล่าวถึงบางประเด็นที่ยังไม่มีผู้สนใจ กับบริบทอาณาเขต อันเกี่ยวข้องเรื่องชาตินิยม ที่มาเกี่ยวข้องเรื่องภาพยนตร์เท่านั้น ซึ่งคณะราษฎร เป็นแค่กองหน้าของมวลราษฎร ที่มีความต้องการเสรีภาพและความเสมอภาค และคณะราษฎรทำตามความต้องการของมวลราษฎรไทย ที่ต้องการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งก่อนหน้าคณะราษฎร ก็มี “คณะ ร.ศ. 130” เคยเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาแล้ว แต่ถูกปราบปรามเสียก่อน[xxvii](ซึ่งการอ้างนี้ เป็นเหตุผลสิทธิชอบธรรม และแถลงการณ์เกี่ยวกับยุคศรีอาริย์ด้วย-ผู้วิจัย) ซึ่งมันสมองของคณะราษฎร คือ ปรีดี กล่าวชี้แจงให้เหตุผลในเรื่องคณะราษฎรทำการยึดอำนาจโดยวิธีการรัฐประหารนั้น เพราะว่า
“คำนึงถึงสภาพของสยาม ที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้ มีข้อตกลงกัน คือ เอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ามายึดครองแล้ว แบ่งดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้น หรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้น เราจึงเห็นว่าวิธีการเปลี่ยนการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี COUP D’ETAT ซึ่งเรียกกันโดยคำไทยธรรมดาว่า การยึดอำนาจโดยฉับพลัน ในสมัยนั้น ยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า รัฐประหาร เพื่อถ่ายทอดศัพท์ฝรั่งเศสดังกล่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจ เพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็จะต้องเผชิญต่อสถานการณ์ ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า FAIT ACCOMPI คือ พฤติการณ์ที่สำเร็จรูปแล้ว” ทัศนะของคณะราษฎร หรือ พรรคราษฎรนั้น

ซึ่งชื่อก็บอกอยู่ชัดๆ แล้วว่า “คณะราษฎร” และมีการยืนยันจากปรีดีว่า ไม่มีความลำบากมากนักในการชวนผู้ตื่นตัวในเมืองไทยให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร เพราะเขามีพื้นฐานแห่งความต้องการนั้นอยู่แล้ว การที่ชวนเป็นสมาชิกประเภทดี 1 เพียง 100 คณะ ก็เพราะจำนวนนั้นเป็นการเพียงพอที่จะลงมือทำการเป็นกองหน้าของราษฎรและเพื่อรักษาความลับในวงจำกัด[xxviii]
ดังจะกล่าวถึง แถลงการณ์ของคณะราษฎร์ ฉบับที่หนึ่ง ได้สะท้อนมโนทัศน์เรื่อง “ชาติ”ของปรีดี ดังว่า

“ราษฎรทั้งหลาย พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง….” และบัดนี้คณะราษฎรได้ยึดอำนาจของรัฐบาลกษัตริย์รวมทั้งได้แจ้งความเห็นให้กษัตริย์ทราบแล้ว ซึ่งในแถลงการณ์ประกาศว่า “ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบตกลงภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตัว ว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น[xxix]…” ดังนั้น การกล่าวถึงชาติของปรีดี คือหมายถึงประชาชาติ หรือประชาชน อันเป็นราษฎร โดยสำคัญอย่างมาก

แต่ว่าในทางตรงกันข้าม “องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ก็ยังมีประโยชน์อยู่มาก เพราะย่อมทรงเป็นเครื่องโยงความสัมพันธไมตรีของคนทุกชั้น ให้แน่นแฟ้นต่อกัน เรายังจะต้องอาศัยบารมีของพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องผูกรัดเขตต์แดนสยามเท่าที่ปรากฏในแผนที่เวลานี้ ให้ผูกโยงกันอย่างแน่นหนา เพราะเราต้องไม่ลืมว่าเวลานี้ เรามีเจ้าประเทศราช ถ้าเรายังบูชากษัตริย์ เจ้าประเทศราชก็จะนิยมเรา ถ้าเราลบหลู่กษัตริย์ เจ้าประเทศราชอาจท้อถอยขาดความเลื่อมใสในรัฐบาลใหม่[xxx]
จากข้อความข้างต้น อาจจะตีความเป็นไปได้สองทาง ซึ่งขอยกตัวอย่างในบริบทกรณี ปี 2477 เมื่อไม่เสด็จกลับมาก็มีข่าวลือ แบ่งแยกดินแดนต่างๆ ดังที่มีการเดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นการด่วน เพื่อเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าอานันทฯ รัชทายาทผู้มีสิทธิธรรมจากสายสกุลมหิดลฯ ซึ่งเจ้าประเทศราช ก็มีบทบาทอย่างชัดเจน มานานมากแล้ว ที่จงรักภักดีกับเจ้ากรุงเทพฯ ช่วง 2475[xxxi] แต่ว่าในตัวแทนของภาคเหนือบทบาทของเจ้ากาลิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ (บุตรเขยของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ)เฝ้าอยู่เคียงข้าง รัชกาลที่ 7 ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ขณะเกิดการปฏิวัติของคณะราษฎร ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการ กับจุดยืนของความเป็นคนกลาง ที่ยืนสองฝ่ายของหลวงวิจิตรวาทการ เหมือนกับชนชั้นข้าราชการ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นักกฏหมายและขุนนางในระบอบเก่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ท่านถือเสมือนว่าเป็นคนกลางที่ช่วยประนีประนอม[xxxii]
ด้วยว่าความเป็น “คนกลาง” ที่ชวนให้สงสัยมาก ยกตัวอย่างข้อความนี้ “….ข้าพเจ้ามิได้มีเชื้อสายเป็นเจ้า และในเวลาที่เขียนหนังสือเล่มนี้ ก็ยังมิได้เข้าเป็นสมาชิกใน “คณะราษฎร” แต่ในส่วนตัวข้าพเจ้าก็เป็นมิตรกับบุคคลทั้งสองฝ่าย ข้าพเจ้าเคยมีเจ้านายที่เป็นเจ้า และเจ้าที่เป็นนายของข้าพเจ้าก็เผอิญเป็นเจ้าที่ดี….(กล่าวถึงปรีดีว่าเป็นเพื่อนกันด้วย) …ฉะนั้นเสียงของข้าพเจ้าที่จะกล่าวอะไรออกไปจึงต้องถือว่าเป็นเสียงของคนกลางที่สุด[xxxiii]…” เพราะ ในเรื่องเบื้องหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475[xxxiv] กล่าวว่า “…หลวงวิจิตรวาทการ(กิมเหลียง) ซึ่งในเวลานั้นตั้งตัวเป็นหัวหน้า “คณะชาติ”(ขอจัดตั้งช่วงเดือนม.ค. 2476 แต่ไม่สำเร็จ-ผู้วิจัยเขียนเพิ่มเติม) และมีคนเข้าด้วยเป็นอันมาก ส่งคนมากราบทูลว่าอย่าให้เสด็จกลับเข้าไปในกรุงเทพฯ เพราะพวกทหาร มีพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้าจะคอยดักยึดรถไฟพระที่นั่งไว้ที่บางซื่อ (อันเป็นแดนทหารอยู่) แล้วจะบังคับให้ทรงเซ็นลาออกอย่างพระเจ้าซาร์เพื่อเป็นริปับลิก….”

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ผ่านมา ไม่ว่าการให้ผู้หญิง มีสิทธิเลือกตั้งโดยปรีดี แล้วเกิดสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบโดยจากข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยปรีดี พนมยงค์ จากข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ ที่สำคัญที่สุดคือข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศ และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏ ซึ่งนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช"ใน พ.ศ.2476 ต่อมากลายเป็นพวกนักโทษการเมือง ก็มีหนังสือพิมพ์ “น้ำเงินแท้” ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ และมรว.นิมิตรมงคล และคนใช้นามปากกาว่า แม่น้ำโขง[xxxv] (อ่ำ บุญไทย) ส่วนหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้ทรงแต่งเพลง”น้ำเงินแท้” ฯลฯ เป็นต้น
กระนั้น ในโลกของธุรกิจภาพยนตร์ อันตรงกันข้าม กับความวุ่นวายทางการเมืองนั้น แม้แต่กลุ่มพ่อค้าชาวจีนในสยาม ยังสนใจสร้างเรื่อง “ความรักในเมืองไทย” ในปี พ.ศ.2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย โดยว่าจ้างคณะพี่น้องวสุวัต สร้างภาพยนตร์เสียงในฟิลม์พูดภาษาจีนกวางตุ้ง ออกฉายในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2476

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดภาพยนตร์ เรื่อง “เลือดทหารไทย” ก็ปรากฏสู่สายตาพลเมือง ปีพ.ศ. 2477 โดยคณะพี่น้องวสุวัตได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประชาธิปไตย เกี่ยวข้องจอมพล ป. ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำออกฉายปี พ.ศ.2478 ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งหมายเพื่อเผยแพร่กิจการของกองทัพ ปลุกใจให้รักชาติ โดยบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ได้รับการว่าจ้างจากกระทรวงกลาโหมให้ถ่ายทำภาพยนตร์เผยแพร่กิจการทหารทั้งสามเหล่าทัพ โดยนำเสนอเป็นภาพยนตร์บันเทิงมีพระเอกนางเอก ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำพอสมควรเนื่องจากต้องทำงานในขอบเขตที่ใหญ่โตกว่าการถ่ายภาพยนตร์ทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะฉากที่ต้องแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ซึ่งต้องใช้ทหารจากสามเหล่าทัพเข้าร่วมแสดงเป็นจำนวนมาก และภาพยนตร์เรื่องเลือดทหารไทยเป็นบทประพันธ์ของขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งเขาคือผู้ผลักดันกระแสชาตินิยมคนหนึ่ง[xxxvi]เช่นกัน(แต่ว่าเขาไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับตำแหน่งทางการเมืองอย่างหลวงวิจิตรวาทการ) และอาจจะด้วยกระแสชาตินิยม ก็คงได้รับอิทธิพลของหลวงวิจิตรวาทการ[xxxvii] ผู้แต่งบทประพันธ์จำนวนมาก รวมถึงพิมพ์หนังสือออกมาในตลาดก็ขายดีมากด้วย ซึ่งภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้น ทำให้เป็นตัวแทนของผู้นำทางการทหาร ที่จอมพล ป. จะขึ้นมาสู่อำนาจ ในปี พ.ศ. 2481 ก่อนสยามเป็นไทย



การเมืองชาตินิยม ( 2481-2484 )สยามกลายเป็นไทย กับการสิ้นสุดของเจ้าเชียงใหม่ ในที่สุด มีปัญหาเขตแดนแม่น้ำโขง และ “พระเจ้าช้างเผือก”

จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการ เริ่มต้นการเปลี่ยนนามประเทศสยามเป็นไทย
ในสมัยจอมพล ป.หรือจอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีความแปลกใหม่ของการเริ่มต้นเปิดสวนสัตว์ดุสิต[xxxviii] และการสร้างชาติไทย โดยต้องการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ ดังปรากฏในบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 2482 มีวาระเรื่อง “เปลี่ยนนามประเทศ” และก็มีการวิเคราะห์ว่า ที่หลวงวิจิตรวาทการอยู่เบื้องหลัง เรื่องชื่อประเทศตามเชื้อชาติ มีองค์ประกอบ หรือเนื้อหา อย่างหนึ่งที่แยกไม่ออก คือ ลักษณะแอนตี้จีน[xxxix] และมีการวิเคราะห์เรื่อง ปัญหาของปัตตานี รวมถึงแผนรวมมหาอาณาจักรไทย โดยมีแผนที่ชนชาติไทย ประกอบอยู่ด้วย ดังที่มีบันทึกในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และในเวลาต่อมา เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย คือ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ก็ได้ถึงแก่พิราลัยแล้ว (มีศาลเจ้าจีนด้วย[xl])ในวันที่ 3 มิถุนายน 2482 ก่อนที่จะเปลี่ยนนามสยามเป็นไทย ในวันที่ 24 มิถุนายน และปีเดียวกันนี้เอง ในวันเดียวกัน รัฐบาลเฉลิมฉลอง “วันชาติ” เป็นวันหยุดราชการ นับว่ามีการดำเนินการหลายอย่าง เช่น มีการลงนามในสนธิสัญญาใหม่กับมหาอำนาจต่างประเทศ[xli]
ซึ่งปรีดีได้มองเห็นการตั้งเค้าของสงครามแล้ว จึงได้ผลักดันให้ได้มีกฎหมายว่าด้วยความเป็นกลางขึ้นในปี 2482 เจตนาของกฎหมายฉบับนี้ก็คือประเทศไทยจะรักษาความเป็นกลางเอาไว้ ด้วยจะนำไปสู่เค้าโครงแนวคิดสันติภาพในพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งตรงข้ามกับภาพยนตร์ “เลือดทหารไทย” นั่นเอง

จอมพล ป. กับชาตินิยมในภาพยนตร์-ปัญหาเขตแดนแม่น้ำโขง
จอมพล ป. กับภาพยนตร์ “เลือดทหารไทย” ก็ย่อมเกี่ยวโยงชื่อของภาพยนตร์ “เลือด” คือเชื้อชาติ(ความหมายที่สองของBlood[xlii] หรือ Race) และที่มีการศึกษาไว้ แล้ว สำหรับหลายๆคน ซึ่งในมุมประเด็นชาตินิยม ก็มีเรื่องความคิด ความจริง และอุดมการณ์ ยังเกี่ยวกับพลเมือง และการทหารว่า ความคิดของรัฐแบบจอมพล ป. มีต่อพลเมืองของรัฐในรูปแบบของชีวการเมือง(bio politics) ที่รัฐได้ดำเนินนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรสร้างชาติ[xliii] โดยรัฐบงการชีวิตพลเมืองภายใต้อำนาจวิทยาศาสตร์ ความจริง ความรู้ของรัฐ

ฉะนั้น รัฐอาศัยวาทกรรมทางการแพทย์เข้าไปควบคุม/กำกับ/จัดการกับร่างกายของประชาชน แล้วสถาปนาความรู้ควบคุมพลเมือง[xliv] ซึ่งถือเป็นการเสนอร่างกายแข็งแรง ที่รัฐต้องการอย่างมาก จึงเป็นกระบวนการ นำไปสู่การเปลี่ยนความคิดในการมองร่างกายของคน ให้หันมายอมรับร่างกายแข็งแรงแทนมองร่างกายในวัฒนธรรมเดิมของไทย ที่มองผ่านอุดมการณ์พุทธศาสนาว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง และบ่อเกิดแห่งทุกข์ตามไตรลักษณ์ แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์มองมนุษย์แบบแยกส่วนเป็นกลไกทางชีววิทยาเท่านั้นเอง[xlv]
โดยลักษณะของความคิด ภายใต้อิทธิพลวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์นั้น ก็มีปรากฏในผลงานศิลปะ เช่น ประติมากรรม ลักษณะผลงาน ที่แสดงร่างกายกำยำ แข็งแรงแบบสัจนิยมแนวสังคม หรือสไตล์ฟาสซิสม์แบบอิตาลี เป็นต้น ดังนั้น ร่างกายก็ถูกสร้างความหมายโดยรัฐ ซึ่งนำเสนอร่างกายเพื่อการทหารได้ด้วย ดังนั้น ผู้วิจัยจะขอสะท้อนแนวคิดร่างกาย “ที่มาว่า เกี่ยวข้องทฤษฎีวิวัฒนาการ” อันบ่งบอกว่า ผู้แข็งแรง คือ ผู้อยู่รอด และ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ทฤษฎีวิวัฒนาการ ถูกนำไปรับใช้สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[xlvi]

จึงขอยกตัวอย่าง กรณีนาซี ใช้แนวคิดดังกล่าว ทำลายพวกเชื้อชาติยิว แม้ว่าประเทศไทย มีอิทธิพลดังกล่าว แล้วมีปฏิกิริยาต่อชาวจีน แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นนั้นก็ตาม จากที่กล่าวมาทั้งหมด ก่อนเริ่มสงครามอินโดจีน กรณีข้อพิพาทปักปันเขตแดนแม่น้ำโขง(แตกต่างในกรณีของอังกฤษนั้น ไทยสามารถจัดการเรื่องเขตแดนได้) มันมีบริบททางความคิด ภายใต้กำลังเริ่มวิกฤตของสงครามโลก[xlvii]โดยไทย ก็รับอิทธิพลของผู้นำญี่ปุ่น และฮิตเลอร์-ฟาสซิสม์มาด้วย ซึ่งจะมีวิธีการที่เกี่ยวข้องรวมชาติพันธุ์ไทยขึ้นมา ดังที่มีการตั้งชื่อวัดประชาธิปไตย เพราะพุทธศาสนาไม่สามารถเน้นมาก เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างเอกภาพทางความรู้สึกนึกคิด โดยนโยบายชาตินิยม ที่เน้นการขยายอาณาเขตเพื่อเป็นมหาอำนาจในแหลมทอง ทำให้ต้องรวมคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่นๆไว้ในชาติไทย แม้แต่การสร้างวัดประชาธิปไตยดังกล่าวก็ตาม ซึ่งต่อมารู้จักกันดีในปัจจุบันในชื่อวัดพระศรีมหาธาตุ และในที่สุดก่อนจะถึงเรื่องภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก ก็สะท้อนเรื่อง “อาณาเขต” เกี่ยวข้องกรณีแม่น้ำโขง ดังนี้
นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศสยามได้ออกแถลงต่อหนังสือพิมพ์ว่า ได้ยื่นบันทึกในเรื่องนี้ให้แก่รัฐมนตรีฝรั่งเศสฉบับหนึ่งและอีกฉบับหนึ่งได้นำส่งไปให้รัฐบาลฝรั่งเศส มีข้อความว่ามีความยินดี ที่จะกระทำสัตยาบันในกติกาสัญญาฝรั่งเศส-ไทย ในการไม่รุกราน ซึ่งกันและกัน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2483 โดยเงื่อนไข 3 ข้อ คือ การปักปันเขตแดนแม่น้ำโขง ให้ถือร่องน้ำลึกของลำน้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ให้รัฐบาลฝรั่งเศสคืนหลวงพระบาง ปากเซ[xlviii] ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งนั่นเอง

“จอมพล ป. ได้ส่งอิทธิพลการเรียกร้องเรื่องปรับปรุงเขตแดน อินโดจีน 8 ตุลาคม 2483 นิสิตจุฬาฯ และนักเรียนเตรียมอุดมชายและหญิงจากจุฬามหาวิทยาลัย 3,000 คน เดินขบวนจุฬาไปกระทรวงกลาโหมสนับสนุนรัฐเรียกร้องดินแดนคืน และนักเรียนเตรียมไปถึงธรรมศาสตร์ ในวันต่อมามีประชาชน นักหนังสือพิมพ์ประโคมข่าวใหญ่ตลอดเวลา และมีภาพการเดินขบวนของชาวเชียงใหม่ด้วย[xlix]

เรื่องของจอมพล ป. กับแนวคิดเรื่องญี่ปุ่นเข้ามาในแผนที่มหาอาณาจักร โดยญี่ปุ่นผ่านการประสานแนวคิดของเอเชีย กับปะทะเจ้าอาณานิคม[l] ด้วยว่าความร่วมมือของไทย ทำให้กำลังรุกอันล้ำหน้าของญี่ปุ่นสะดวกง่ายดายขึ้น รัฐบาลทหารของไทย ซึ่งปรับตัวให้เข้ากับดุลแห่งอำนาจที่กำลังเปลี่ยนแปลงในยุโรป และเอเชีย และสนับสนุนลัทธิชาตินิยม ที่เข้มแข็งของตนได้ ยอมรับการสนับสนุนทางการฑูตจากญี่ปุ่นในการบังคับฝรั่งเศส ที่อ่อนอำนาจลงให้ยินยอมดินแดนชายเขตกัมพูชาบางเมืองให้แก่ไทย เมื่อการรุกทางทหารของญี่ปุ่นเริ่มขึ้น ไทยก็เต็มใจเปิดประเทศในฐานะเป็นดินแดนหยุดพักของญี่ปุ่น[li]

การวิเคราะห์ในด้านความคิดของจอมพล ป.ว่า พยายามแอบอ้างการโอนอ่อนต่อญี่ปุ่นว่าเป็นกลนโยบายแบบเดียวกับที่ใช้กันมาในสมัยราชาธิปไตย โดยกล่าวว่า “เราฝากเนื้อฝากตัวกับมัน มันอาจจะมีศีลธรรมก็ได้ คล้ายกับเราฝากตัวกับอังกฤษและฝรั่งเศสครั้งโบราณ ไม่ใช่ว่าจะขี้แย แต่รถรบเราก็มีอยู่เพียง 50 คัน เขามาแน่นฟ้ามัวฝน[lii]” ซึ่งมันก็เป็นเรื่องกรณีตัวอย่าง ด้านการทหารของจอมพล ป. กับแนวคิดเรื่องอาวุธทางการทหาร (สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงพบว่าบรรดาประเทศต่างๆได้ขยายอุตสาหกรรมอาวุธของตน พร้อมกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทหาร[liii]) และเรื่องญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย ก็มีความสนใจในการสร้างแผนที่มหาอาณาจักร[liv]

กระนั้น ผู้วิจัยขอสรุปเหตุการณ์ กรณีตัวอย่าง “มีการวางศิลาฤกษ์ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นก็ในวันเปลี่ยนนามสยามเป็นไทย” และการวางหมุด ที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”โดยหมุดแสดงจุดที่หัวหน้าคณะราษฎรยืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 “หมุด” มีตัวอักษรบอกความหมายไว้แล้ว แต่ “ตัวหมุด” มีความหมายใด หรือจะหมายถึง หยุด หรือเขตแดนกันแน่ โดยเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนหน้าปัญหากรณีปักปันเขตแดนแม่น้ำโขง โดยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเกี่ยวกับหลัก 6 ประการ คือ เอกราช และความสงบภายใน สิทธิ เสรีภาพ ฯลฯ เป็นต้น มีพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2483 ต่อมาด้วยเหตุพิพาทอินโดจีนดังกล่าว เกิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 แสดงวีรกรรม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่เสียชีวิต ซึ่งรูปแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเปรียบเทียบแตกต่างจากอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มี ลักษณะสถูปเจดีย์ ดังนั้น อนุสาวรีย์ดังกล่าวสะท้อนรูปแบบชาติไทยไปในตัวเอง

นอกจากนั้น ด้านภาพยนตร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2483 นั้น ความเจริญรุ่งเรืองของวงการภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะภาพยนตร์เสียง ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2470 มีอันต้องสะดุดลง เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ไทยโดยตรง เพราะได้ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ขนาด 35 มม. อย่างฉับพลัน เนื่องจากประเทศผู้ผลิตฟิล์มส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปซึ่งกำลับประสบกับภาวะสงครามโดยตรง ส่งผลให้ภาพยนตร์เสียงซึ่งเคยเฟื่องฟูมากในช่วงต้นทศวรรษ 2480 ค่อย ๆ ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ภาพยนตร์เสียงเพียงเรื่องเดียวที่สร้างในปี พ.ศ. 2483 ก็คือ พระเจ้าช้างเผือก ซึงสร้างโดยนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อรูปการณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นเช่นนี้ จึงมีผู้สร้างภาพยนตร์บางรายพยายามหาทางออกเพื่อแก้ไขกับสถานการณ์ดังกล่าว และความสำเร็จของภาพยนตร์พากย์เรื่อง สามปอยหลวง ของบริษัทไตรภูมิภาพยนตร์ ที่ออกฉายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2483 ก็คือตัวอย่างอันดีของความพยายามครั้งนี้[lv] และใน ปี 2483 ก็มีภาพยนตร์ เรื่อง “คะนองรัก” ซึ่งเกี่ยวข้องในฐานะภาพยนตร์ หรือสื่อมวลชนกับบทบาทการแพร่วาทกรรมป้องกันกามโรค[lvi]
อย่างไรก็ดี ความคิดของจอมพล ป. และกลุ่มคณะราษฎร หรือปรีดี ก็คงประเมินสถานการณ์ของสงครามโลก ในแนวทางคนละแบบไว้ โดยจอมพล ป. คงจะประเมินว่า ญี่ปุ่นจะชนะ โดยเข้าร่วมรบทำสงครามในพม่า ดังจะขอยกตัวอย่าง คือ กรณีบุกเชียงตุง สร้างสหรัถไทยเดิม[lvii] และก็คล้ายกับกรณีอินโดจีน เชิญธงไตรรงค์ คือธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา และสะพาน พ.ส. 2485 (ตามการสร้างภาษาแบบจอมพล ป.[lviii])แถบต้นน้ำของแม่น้ำปิง ซึ่งสะพานเชื่อมต่ออำเภอเชียงดาว กับอำเภอไชยปราการ ที่ติดกับอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันเขตติดต่อพม่า( ช่วงเกิดสงคราม ปรีดีเคยคิดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในพม่าเขตปกครองของอังกฤษ) โดยยุคนั้น กองทัพไทย มีปักหลักอยู่ที่เชียงใหม่ นอกจากตั้งฐานที่มั่นในจังหวัดลำปาง[lix]ในเหตุการณ์เกี่ยวกับยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มีอนุสาวรีย์แห่งความดี ที่เชลยศึกชาวต่างประเทศสร้างไว้ระลึกถึงความเมตตาปราณี คุณงาม ความดีของชาวเมืองอุบลราชธานี นอกจากนั้น ในช่วงนี้เกิดภาพยนตร์เรื่อง “บ้านไร่นาเรา” สร้างจากเค้าเรื่องโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม และ"สงครามเขตหลัง" และ "บินกลางคืน[lx]" (2486) เป็นต้น

แต่ว่าผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ ที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับจอมพล ป. และช่วยสร้างลัทธิทหาร ซึ่งเรียกว่า “โฆษณาการ” และตามสถานีวิทยุ นายมั่น นายคง(สังข์ พัทธโนทัย) มีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายของพลเมือง เรื่องร่างกายแข็งแรงในช่วงสงคราม การตื่นตัวของวงการวรรณกรรม ย่อมควรจะพิจารณาบทบาทของหลวงวิจิตรวาทการ อิทธิพลต่อภาพยนตร์

จอมพล ป.กับหลวงวิจิตรวาทการ อิทธิพลต่อภาพยนตร์
หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งยอมรับความหลากหลายของพลเมืองในช่วง 2475-76 มากกว่าทศวรรษที่ 2480 โดยหลวงวิจิตรวาทการ มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร พ.ศ. 2477-2483 จะเชื่อมโยงกับจอมพล ป.มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาเป็นผู้สนใจประวัติศาสตร์ มีความรู้ทางจิตวิทยา และมีวาทศิลป์ในการโน้มน้าวใจคนแบบนักการทูต และมักใหญ่ใฝ่สูงในการทำงาน[lxi]
อนึ่ง จะขอยกตัวอย่าง นวนิยาย กับภาพยนตร์ เป็นส่วนประกอบของการสร้างวัฒนธรรมความเป็นไทย โดยสะท้อนผ่านหลวงวิจิตรวาทการ ที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งแตกต่าง กับกลุ่มนักประพันธ์ต่างๆ อันเป็นเรื่องอ่านเล่นสมัยใหม่ ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ผลงานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา หนึ่งในคณะสุภาพบุรุษ (ผลิตนิตยสารสุภาพบุรุษ 2472) แต่ไม่ได้เข้าร่วม “คณะราษฎร” ซึ่งศรีบูรพานำเสนอ “ยาขอบ” ให้เขียนนิยายปลอมประวัติศาสตร์โด่งดังเรื่อง “ศึกอนงค์” เปรียบเทียบกับหลวงวิจิตรวาทการ คือ “สยามกับสุวรรณภูมิ” แล้วก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย แต่ว่าหลวงวิจิตรวาทการขึ้นมาเหนือกว่ายาขอบ และขุนวิจิตรมาตรา (เขียนเรื่องหลักไทย) เพราะว่าการเล่นการเมือง ทำให้หลวงวิจิตรวาทการเข้ากับระบบราชการเก่า และคณะราษฎรนั้น
ซึ่งแตกต่างกับกลุ่ม ส.ธรรมยศ[lxii] และกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ อื่นๆ โดยบทบาทของ หลวงวิจิตรวาทการ ในฐานะตัวแทนนักประพันธ์ หรือนักหนังสือพิมพ์ ก็เตรียมจะเล่นการเมืองในฐานะ “คนกลาง”ของคณะราษฎร์ และผู้ชี้ให้เห็นว่า อำนาจของคณะราษฎร “ก่อนสยามเป็นไทย”อาณาเขตครอบคลุมไม่ทั่วถึงล้านนา ซึ่งมันอาจจะทำให้ประเทศสยามแตกแยกพอๆกับการบุกเข้ามาของฝรั่งเศสได้ ซึ่งความคิดแบ่งแยกดินแดนนี้ ปรากฏในหลายเขตแดน เช่น จังหวัดน่าน[lxiii]มีการผลิตธนบัตรรูปวัดภูมินทร์ และข่าวลือแยกดินแดน เป็นต้น โดยหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ไม่ได้เป็นนักเขียนนวนิยายของ “คณะสุภาพบุรุษ” แต่ว่า ในเวลาต่อมา เขาคือตัวแทน “คณะชาติ” ก่อนที่จะเข้าร่วม “คณะราษฎร” นั่นคือที่มาความสำคัญของเขา โดยการสนับสนุนของคณะราษฏร
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวันชาติ คือ วันที่ 24 มิถุนายน 2481 ในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่มีการเตรียมการสำหรับการฉลองวันชาติ แต่อย่างใด “คณะราษฎร” ซึ่งมอบหมายให้หลวงวิจิตรมาทำงาน "ปลูกต้นรักชาติ" ขึ้นในหัวใจประชาชน โดยการแต่งละครประวัติศาสตร์ และเพลงที่เป็นบทปลุกใจให้รักชาติขึ้นในระยะเวลาติดต่อกัน อาทิ เช่น ละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง เลือดสุพรรณ(2479 ) ราชมนู(2479-80) พระเจ้ากรุงธน (2480) ศึกถลาง(2480) เจ้าหญิงแสนหวี และอื่นๆ อีกมาก โดยเขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีลอย(ไม่ว่ากระทรวงใดๆ) และยกตัวอย่าง ในเรื่อง “ราชมนู” รับอิทธิพลรัฐบาล มีนโยบายที่จะสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจของแหลมทอง หลวงวิจิตรวาทการก็ได้สร้างคำนิยาม “ชาติไทย”ให้มีความหมายครอบคลุมคนชาติต่างๆ ในแหลมทอง โดยอาศัยสื่อเช่นการละคร การบรรยายทางวิทยุกระจายเสียง การพิมพ์ และการบรรยายในที่ต่างๆ รวมทั้งในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา[lxiv] โดยตัวละครในเรื่อง”ราชมนู” กล่าวว่า “เขมรเป็นชื่อสมมุติแท้ๆ พวกเราในแหลมทองนี้ ทั้งแหลม พวกเดียวกันทั้งนั้น” ในทัศนะของหลวงวิจิตรวาทการเปลี่ยนไปตามอิทธิพลของนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป. โดยภายใต้อิทธิพลโต้ตอบชาวจีน และรวมชาติไทยในภาคเหนือ[lxv]
ในบริบทของความเกี่ยวข้องกับหลวงวิจิตรวาทการ กับความเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาตินิยมของจอมพล ป. และอิทธิพลในการสร้างภาพยนตร์ด้วย โดยจะยกตัวอย่าง 2 ประการ
ประการที่ 1 หลวงวิจิตร บ่งบอกว่าเขาเข้าใจในอำนาจของแผนที่ และอาณาเขตดินแดนด้วย ดังตัวอย่างที่ได้เขียนไว้ในบันทึกปาฐกถาเรื่อง “ของดีในภาคอีสาน” ตอนหนึ่งว่า
“…….ข้าพเจ้าได้เคยท่องเที่ยวในภาคอีสานตั้งแต่ครั้งเป็นเลขานุการข้าหลวงแม่น้ำโขงเมื่อ 15 ปีมาแล้ว และต่อจากนั้นก็ได้ท่องเที่ยวไปมาอยู่เสมอ จนกระทั่งถึงเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่มีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2483[lxvi] ….”
การบรรยายทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อ 15 ธันวาคม 2483 เรื่อง “ชาติไทยจะชนะ” หลวงวิจิตรวาทการกล่าวว่า “ชาติไทยในที่นี้… ข้าพเจ้าหมายตลอดถึงพี่น้องของเราฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและในกรุงกัมพูชาด้วย ส่วนปาฐกถาแสดงแก่ครูอาจารย์และนักเรียนกรมยุทธศึกษา เรื่อง “การเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส” เมื่อ 17 ตุลาคม 2483 นอกจากเน้นว่าดินแดนลาวและเขมร “เป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทย เลือดไทย ซึ่งเป็นหน่อเนื้อเชื้อเดียวกับเรา มีจำนวน 4 ล้านคน” แล้ว ยังสร้างความสะเทือนในแก่ผู้ฟังด้วยการกล่าวว่า
“ทุกๆครั้งที่ข้าพเจ้าไปแลเห็นแม่น้ำโขง ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนว่าน้ำที่ไหลอยู่นั้นคือน้ำตาของชาวไทย พวกเราทางฝั่งนี้เป็นอิสรเสรี แต่พี่น้องเราทางฝั่งโน้นถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ทุกวัน[lxvii]…”
ทั้งนี้ การปลุกระดมให้คนไทยสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ย่อมมีผลต่อคนไทย ซึ่งประเทศกำลังเข้าสู่สงคราม เนื่องจากใช้อำนาจทางกำลังทหารเข้าตัดสินปัญหาแทน ที่จะใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ หรือว่าไม่มีสนธิสัญญาใดๆ จะเป็นสันติภาพอย่างแท้จริงได้
ประการที่ 2 ในส่วนการรณรงค์ของการประชาสัมพันธ์ ในเรื่องเขตแดน ที่กล่าวข้างต้น สร้างกระแสภาพลักษณ์ให้แก่จอมพล ป. ด้วยผลจากการประชาสัมพันธ์ นั้นเอง และเขา ก็คือ ประธานคณะกรรมการรัฐนิยม อันเชื่อมโยงชาตินิยมของเขากับจอมพล ป. “คณะกรรมการรัฐนิยม” มาจากที่ถูกเสนอเปลี่ยนชื่อจากคณะกรรมการธรรมนิยม[lxviii]โดยปรีดี และเขาเคยกล่าวว่า “เห็นแสงจอมพล” คือเรื่องว่าหลวงวิจิตรวาทการเข้าไปในวังสวนกุหลาบ เห็นรูปจอมพลฯ ซึ่งวาดด้วยสีน้ำมัน ซึ่งที่จริงมีอยู่เพียงคนเดียวว่า “ผู้ติดตั้งรูปฉลาดในศิลปะแห่งการติดตั้งรับกับแสงทำให้รูปมีรัศมี[lxix]” ทำให้เขาถือว่าถูกผู้คนมุ่งร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเป็นช่วงคาบเกี่ยวเวลาที่เขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2483) เป็นต้นมา
หลวงวิจิตรวาทการ มีบทบาทตามการไปปาฐกถา รวมทั้งด้านศิลปะ-ละคร-ภาพยนตร์ นอกจากตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ที่เชี่ยวชาญแลกเปลี่ยนความรู้กับสำนักฝรั่งเศส ฯ เป็นต้น ดังนั้น การสร้างชาติ เกี่ยวพันกับรัฐนิยม ซึ่งต่างจากความเชื่อร่างกายทางศาสนา เหมาะแก่ร่างกายทางวิทยาศาสตร์การทหาร ร่างกายแข็งแรง และสามารถสร้างเผ่าพันธุ์ให้รูปร่างใหญ่โตได้ เพราะร่างกาย ที่ได้มาตรฐานเป็นสิ่งที่จะช่วยประเทศก้าวไปเป็นมหาอำนาจ อารยะได้ จึงขอยกตัวอย่างว่า หัวข้ออาณาเขต หรือดินแดน กลายเป็นอยู่ในแผนที่สมัยใหม่ เปรียบเทียบกับร่างกายพลเมืองสมัยใหม่ และวิทยาศาสตร์ ก็มีผลต่อการทหารในรัฐนิยม เช่นเดียวกัน แต่ทำไมพระเจ้าช้างเผือกกลับย้อนอดีตไปไกลกว่าบริบทก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่ไม่มีช้างเผือกในยุคดังกล่าวด้วย
แน่นอนว่า ยุคอโยธยา(ในจินตนาการของภาพยนตร์) เป็นยุคที่แผนที่แบบสมัยใหม่ยังไม่ปรากฏขึ้นมา ในที่นี้ยังมีกระบวนการจัดทำภาพยนตร์ใช้สถานที่ของไทยฟิลม์ และเกิดชื่อปรีดีภาพยนตร์ (ซึ่งยุคนั้น ก็มีชื่อไตรภูมิภาพยนตร์) ถ่ายทำภาพยนตร์ในบรรยากาศธรรมชาติของจังหวัดแพร่ นักแสดงเป็นครู-นักเรียน แตกต่างกับเอาทหารแสดงในเรื่อง “เลือดทหารไทย” โดยประเด็นของภาพยนตร์แย่งชิงช้างเผือกนั่นเอง




การอ่าน ผลงานของปรีดี พนมยงค์ กับนวนิยาย-ภาพยนตร์ : “ช่วงชิงช้างเผือก V.S.อาณาเขต”
ในนวนิยาย หรือภาพยนตร์ต่างๆในปัจจุบัน มักยกเอากรณีอยุธยา มาเป็นตัวอย่างสะท้อนการต่อสู้กับอาณานิคมโดยพม่า ก็ปลุกเร้าเรื่องชาตินิยม เพราะการไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกมาก่อน[lxx] จึงหันไปต่อสู้กับพม่า กรณีนี้ ก็เลยเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ “พระเจ้าช้างเผือก”โดยลักษณะการเขียน นวนิยาย หรือ ประวัติศาสตร์ ในการปลูกต้นรักชาติของหลวงวิจิตรวาทการ ไม่มีใครบทบาทเด่นเท่าเขาอีกแล้ว ที่น่าจะมีอิทธิพลกับเรื่องพระเจ้าช้างเผือก ไม่มากก็น้อย ซึ่งเขาเป็นผู้โจมตีอยุธยาอย่างหนัก ด้วยว่าวัฒนธรรมเสื่อมสลาย[lxxi] เป็นต้น
เมื่อส่วนผสมของจินตนาการในยุคปัจจุบันของปรีดี คือ ไม่มีช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 8 แล้วประเด็นที่สำคัญดังกล่าวว่า ผู้วิจัยต่อยอดความรู้ “อ่าน” ขยายความคิดว่า พระเจ้าช้างเผือก เป็นนิยาย “อิง” ประวัติศาสตร์ ทำไมนำเค้าโครงเรื่องมาจาก “สงครามช้างเผือก” และ “สงครามยุทธหัตถี” ระหว่างอยุธยา[lxxii] (สมัยพระเจ้าจักรพรรดิ พระสุริโยไท พระนเรศวร) กับหงสาวดี (พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ บุเรงนอง และพระมหาอุปราชา)
ผู้วิจัยตั้งคำถามว่า จากการช่วงชิงช้างเผือก เพื่ออะไร โดยผู้วิจัยขอตอบเองว่า เพื่อแย่งชิงช้างเผือก ซึ่งไม่ใช่อำนาจเขตแดน ในแผนที่สมัยใหม่อย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน และการช่วงชิงดังกล่าว ก็สะท้อนกลับไปหาปัญหาเรื่องเขตแดน “แม่น้ำโขง” และการเริ่มตั้งโจทย์ว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญในแง่มุมมองของอดีตนั้น “ช้างเผือก” ต่างกับยุคของปรีดี ที่แย่งชิงอาณาเขต “ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก” เหนือกว่าแนวคิดเรื่องเขตแดนของหลวงวิจิตร-จอมพล ป. จากอิทธิพลความคิดทางวิทยาศาสตร์ด้านทหาร และภาพยนตร์ แต่อยู่บนหลักธรรมะ คือว่า “กรรม” คือผู้ตัดสินชีวิตของคน ดุจเดียวกับผู้กำกับภาพยนตร์ ดังนั้น การกระทำ หรือ กรรม ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดของช้างเผือก สิงสถิตของกษัตริย์ และ มาเป็นช้างเผือกของพระเจ้าจักรา หรือพระเจ้าช้างเผือก นั่นเอง

การตีความตัวบทนวนิยาย เพื่อรื้อสร้างภาพยนตร์
ปรีดี พนมยงค์ เขียนนวนิยาย “พระเจ้าช้างเผือก” มีประโยคตัวอย่างเกี่ยวกับ “ชาติ” และ“ช้างเผือก” และ “สันติสุข” ดังว่า “ราชอาณาจักรไทย” นั้นหมายความว่า ราชอาณาจักรของประชาชนที่เป็นไท(ในหน้า ที่1 ของนวนิยายเริ่มต้นกล่าวถึงราชอาณาจักรอโยธยาอันเก่าแก่) ซึ่งนวนิยาย มีลักษณะของคำสมัยใหม่ อันแสดงแนวคิดร่วมสมัยของผู้แต่ง เช่น คำว่า ประท้วง และการเชื่อมโยงเปรียบเทียบเลือกช้างกับสตรี คือ ช้างกับมเหสี 365 นาง(หน้า 24) โดยอ้างความสำคัญของช้าง จำนวนมาก สำคัญกว่ามีมเหสี 365นาง ซึ่งให้ความสำคัญกับสตรีสูงมาก ดังที่มีการให้สิทธิสตรีเลือกตั้งได้ และเปรียบเทียบกับช้าง จำนวนมาก ในพระเจ้าช้างเผือก กับจำนวนรถรบ ยุคทหารของจอมพล ป. แต่นวนิยายนี้ อ้างเกี่ยวกับหลักธรรมว่า พระธรรมกล่าวไว้ว่าอย่างไรในเรื่องของเหตุและผล ซึ่งเกี่ยวโยงกันเป็นลูกโซ่(ปฎิจจสมุปบาท)อาณาจักรแห่งความทุกข์นั้นแวดล้อมเรา(หน้า 33) และการบ่งชี้สัญลักษณ์ของช้างเผือก-ชาติ-ธงชาติว่า “ในเรือนร่างของสัตว์ป่าที่สูงส่ง และบริสุทธิ์นี้ เป็นที่สิงสถิตย์แห่งดวงวิญญาณของมนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด ที่ต้องใช้ชีวิตหลายภพหลายชาติในเรือนร่างขั้นต่ำเพื่อชดใช้บาปของตน และในที่สุดก็ได้รับการปลดเปลื้องบาปนี้ ช้างเผือกนี้สามารถเป็นที่ สิงสถิตย์ได้โดยเฉพาะจิตวิญญาณของพระเจ้าแผ่นดิน โดยกษัตริย์จับได้จะปกครองราษฎรอย่างสันติ และ หมายความว่าเราจะไม่ถูกปกครองโดยเจ้าหงสาวดี หรือกษัตริย์โมกุล” และข้อความว่า “ช้างเผือกเป็นของศักดิสิทธิ์ ซึ่งนำสันติสุข จงเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติเรา”(หน้า 53-54)
ส่วนความคิดของฝ่ายตรงข้าม ทางด้านบทสนทนาของกษัตริย์หงสา กล่าวว่า “เจ้าคิดหรือว่าทั้งโลกเขาจะจัดตั้งเป็นสันนิบาตขึ้นมาต่อต้านข้า”(หน้า 58) ซึ่งไม่มีความคิดเรื่อง “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”(หน้า 140) และประโยคสำคัญของนวนิยายพระเจ้าช้างเผือก คือ “ขอจงมีสันติสุขเถิด…ขอคุณพระศรีรัตนไตร กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสกลจักรวาลดลบันดาลให้สันติภาพนั้นดำรงอยู่ ลาก่อน”(หน้า 143) แน่นอนว่า ชี้ให้เห็นคุณค่า “ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบ” : “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ ” ซึ่งผู้วิจัยคิดตรงกับโดม สุขวงศ์ ผู้ตีความไว้ว่า
“โดยเห็นได้จากเนื้อหาสาระของ พระเจ้าช้างเผือก ว่า “นิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนี้ มีพื้นเรื่องเดิมมาจากเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยอันเป็นที่รู้จักกันดี คือ การรุกรานของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมักจะยกเรื่องช้างเผือกจำนวนไม่กี่เชือกมาบังหน้า แต่แท้ที่จริงก็เพื่อขยายบารมีและอานุภาพส่วนตัว ความปราชัยของจ้าวผู้ครองนครที่เปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน กระหายอำนาจ ก้าวร้าวในการต่อสู้ตัวต่อตัวกับขุนศึกของไทยที่ยิ่งใหญ่และเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง ชัยชนะอันเด็ดขาดของธรรมะเหนืออำนาจ การปฏิบัติตามกรุณาธรรมและเมตตาธรรมอันปรากฏในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า(เมตตาแก่สรรพสัตว์-ผู้วิจัย) ซึ่งแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมากว่าสองพันสี่ร้อยปีก็ยังคงเป็นประดุจประทีปแห่งความกรุณาที่ฉายแสงนำทางจิตใจของมนุษยชาติทั้งมวลให้หลุดพ้นจากความหายนะ นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สันติภาพ เพราะว่า ชัยชนะแห่งสันติภาพนี้ มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด[lxxiii]” และการเน้นย้ำด้วยการตีความของชาญวิทย์ เกษตรศิริ “คำนำ” ที่ท่านปรีดีเขียนไว้ในหนังสือเรื่องเดียวกันเมื่อ 11 พฤษภาคม 2483 (วันคล้ายวันเกิดของท่านเอง) ซึ่ง “คำนำ” ที่เขียนไว้ในหนังสือ คือ “นวนิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือก”(ขอเน้นว่านวนิยาย) เนื้อหา(ไม่ใช่รูปแบบ)ดังกล่าวว่า

“ในดินแดนแห่งนี้ มีช้างดกดื่น ช้างเผือกสูงส่งเหนือช้างใด แลราษฎรก็แซ่ซ้องสรรเสริญ “พระเจ้าช้างเผือก” กษัตริย์ผู้กล้าหาญ พระองค์ทรงนาม “จักรา” พระองค์หาได้โปรดความฟุ้งเฟ้อแห่งราชสำนักไม่ กลับทรงอุทิศพระวรกายให้กับความผาสุกของประเทศชาติ” และพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ทรงแปลงานเขียนของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ จากภาษาอังกฤษเป็นไทย นอกจากนี้ยังมีข้อความอีกว่า “ผู้แต่งเรื่องได้เตรียมการแต่งเรื่องไว้ตั้งแต่ 2-3 ปี โดยมีความประสงค์ที่จะส่งเรื่องไปประกวดรางวัลสันติภาพ เพื่อรางวัลโนเบิล โดยพระเจ้าช้างเผือก เสด็จลงโรงหนังศาลาเฉลิมกรุง และเฉลิมบุรี[lxxiv]” ซึ่งผลงานของปรีดี ดังกล่าวทำให้เกิดอารมณ์ร่วมของการปลุกให้เกิดสันติภาพ และรักชาติ “ที่รักไร้พรมแดน”ไปพร้อมกับให้ความสำคัญกับสัตว์โลกด้วย

วิเคราะห์: ศิลปะ-อารมณ์ อันสุนทรีย์ของภาพยนตร์
ผู้วิจัยทบทวนการตีความ “ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก” โดยผู้วิจัยเห็นด้วยกับสันห์ วสุธาร ที่เสนอความคิดเห็นว่า “การที่ข้าพเจ้าเห็นว่า ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” เป็นการผสานระหว่างสองทฤษฎี คือ สมจริงแบบฮอลลีวู้ดและสมมติแบบไทย[lxxv]” ดังนั้น ลักษณะสมมติช่วยเพิ่มจินตนาการร่วมกับข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ เช่นฉากท้องพระโรง ยืนร่วมกัน เป็นต้น ส่วนทางด้านความบันเทิง มีความงดงามทางนาฏลักษณ์ของลีลาการแสดง ไม่ว่าฉากร่ายรำ หรือสร้างบรรยากาศให้เห็นความรัก คือพระ-นาง และพระเจ้าช้างเผือก ก็ถ่ายภาพช้างได้ดี[lxxvi] เห็นการถ่ายภาพยนตร์ ด้วยฟิล์ม ขาว – ดำ และมีเสน่ห์ โดยเฉพาะการ ถ่ายโคลสอัพ ที่สำคัญ คือการถ่ายภาพฉากช้าง

ประสาท สุขุม กล่าวว่า “ครั้งแรกที่เราเห็นช้าง เป็นฉากการจับช้างป่า เราจะเห็นช้างบ้านกำลังทำงานในป่า จากมุมมองไกล ๆ และดูธรรมดา แล้วใกล้เข้าไปเห็นอริยาบถของช้าง ขณะทำงานชักลากซุงไปในลำน้ำ เพื่อนำไปสร้างเพนียด จากนั้นเราเห็นการจับโขลงช้างป่า จากมุมมองห่าง ๆ เห็นการไล่ต้อนช้างป่า ช้างป่าเข้าเพนียด เป็นภาพธรรมดาเหมือนการบันทึกเหตุการณ์อย่างข่าวสารคดี ตามด้วยการเสนอภาพของช้างเผือกซึ่งถูกจับได้ในครั้งนั้น เมื่อช้างเผือกได้ขึ้นระวางหรือสถาปนาเป็นช้างสำคัญ เป็นภาพขบวนแห่ชักแถวนำช้างเข้ากรุง[lxxvii]” ซึ่งแน่นอนว่า ผู้วิจัยต้องการชี้ให้เห็นรูปแบบของภาษาภาพนั้น จะส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ดูอย่างสำคัญ โดยกล้องทำหน้าที่ นำสายตาของเรา ให้แลดูธรรมชาติ ที่ผลิตผ่านมุมกล้อง สร้างศิลปะที่สะท้อนออกมาจากธรรมชาติ

ดังที่ ประสาท สุขุม เสนอว่า “เราจะเห็นกองทัพช้างศึกนับสิบเชือกโผล่ขึ้นมาจากระดับพื้นดินระยะไกลมาก แล้วเคลื่อนตรงเข้ามาหากล้อง ในระยะชัดตลอด แล้วเท้าอันมหึมาของช้างก็ย่างเหยียบผ่านหัวเราไปอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นการแสดงให้เห็นอำนาจข่มขวัญอันน่าเกรงขามของมัน สำทับด้วยเสียงร้องก้องกัมปนาทของช้างแต่ละตัวกลบทั่วบรรยากาศ ภาพตัดชนกับเหล่าไพล่พลทั้งสองฝ่ายถืออาวุธโถมเข้าใส่กล้องและกระโดดข้ามหัวเราไปอีกแล้ว ทั้งสองกองทัพก็เข้าตะลุมบอนหรือประจัญบานกัน ด้วยอาวุธประจำกาย ถ่ายให้เห็นทั้งในระยะไกลและระยะปานกลาง ทั้งสองฝ่ายต่างล้มตายกันเป็นเบือ น่าสังเกตว่าในการถ่ายฉากการรบซึ่งมีการเคลื่อนไหวสับสนวุ่นวายมาก และรวมทั้งการเคลื่อนไหวของช้างในบางฉาก[lxxviii]
โดยผู้วิจัย รู้สึกถึงอารมณ์ของสุนทรียภาพ ฉากสงครามยุทธหัตถี แฝงนัยยะแก่นสันติภาพของภาพยนตร์ไทย

โดยเราจะเห็นว่า สาระสำคัญของภาพยนตร์ มิได้อยู่ที่ความเก่งกล้าสามารถในการยุทธของพระเจ้าช้างเผือก โดยฉากสู้รบปรากฏภาพไม่นาน แต่อยู่ที่การประกาศสันติภาพของพระองค์ต่อโลก ซึ่งทรงตั้งพระทัยอย่างจริงจังและกระทำทันทีที่ทรงเผด็จการทรราช แต่ว่าเรื่องราวรูปแบบของภาษาที่ภาพยนตร์ใช้ภาษาอังกฤษ ก็สะท้อนกลับเข้าไปหาคนดูและเจตจำนงของการสร้างภาพยนตร์เพื่อแสดงให้มหาอำนาจ รับรู้พรมแดนของภาษา และชาวไทย ผู้ใช้ภาษาไทยได้รับรู้เอาไว้[lxxix]
ผู้วิจัย ซึ่งอยู่ต่างจากบริบท “เวลา” ของโลกในอดีต ที่มีการฉายภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” นำเสนอในยุคนั้นเอง มันมีผลสะท้อนว่า ภาพยนตร์เก่าๆ เราจะเข้าถึงได้ ในวิถีแห่งพื้นที่โรงภาพยนตร์[lxxx]ที่นั่งดูภาพยนตร์ในห้องแอร์เป็นของใหม่ และกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เสียงกลุ่มหนึ่ง ต่างจากกลุ่มผู้ชมหนังพากย์อีกกลุ่มหนึ่ง โดยกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เสียงจะเป็นผู้มีการศึกษา และความนิยมในวัฒนธรรมต่างประเทศ คือความแตกต่างทางชนชั้นหรือไม่ ในขณะที่ผู้ชมหนังพากย์เป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีความผูกพันในวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างหาก ดังที่มีการกล่าวว่า คนไทยตื่นเต้นในเนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์และความแปลกของกองทัพช้างและสงครามยุทธหัตถี รวมทั้งตื่นเต้นที่ได้ชมหนังไทยที่พูดภาษาอังกฤษ[lxxxi] ทั้งที่ภาพยนตร์ คือทางเลือกแห่งสันติภาพ[lxxxii] ที่ชี้ปัญหาสูญเสียเลือด เนื้อในการสู้รบ

ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ก็ตรงกันข้ามกับที่ผู้วิจัยจะวิเคราะห์ว่า ภาพยนตร์ถูกฉายอยู่ในช่วงกระแสแห่งการเชิดชูเรียกร้องดินแดนอินโดจีนว่า อาจจะกระทบกับความคิดเห็นของคนดูในช่วงสงคราม แต่ว่า“เนื้อเรื่องก็มีสงครามยุทธหัตถี ที่ภาษาภาพของภาพยนตร์ ก็ปลุกใจรักชาติ คือปกป้องชาติ” และทำให้คนรู้สึกถึงสันติภาพ ได้ในสองอย่างพร้อมกัน โดยอาจจะเป็นไปได้ว่า ถ้าการอ้างว่าการตอบรับของคนดูภาพยนตร์ในอดีตเป็นความจริง

ดังนั้น ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” เรื่องนี้ก็น่าจะสอดรับกับการปกป้องดินแดนของตนเอง โดยภาพยนตร์พาเราย้อนยุคหลายชั้นเชิงจากยุคที่เราดูอยู่กับสังคมในสมัยอดีต 2484 และย้อนไปสู่จินตนาการถึงอโยธยา(ในจินตนาการ) ซึ่งสิ่งที่สำคัญของสันติภาพ นอกจากช้างเผือก หรือกฎหมายที่เขียนบนแผ่นกระดาษแล้ว ก็ต้องเริ่มต้นที่ใจก่อน ทำให้สอดคล้องกับคำประกอบภาพยนตร์ว่า สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี หรือ สันติภาพ

บทสรุป :พระเจ้าช้างเผือก ผลงานของปรีดี พนมยงค์ ที่เหนือกว่าชาตินิยม
จากบริบทแวดล้อมทางประวัติศาสตร์และนวนิยายดังกล่าวนั้น สู่การรื้อสร้างโดยการอ่านภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ในการศึกษาเรื่องชาตินิยม ไม่ได้มองแค่ประเด็นความเป็นไทย ตรงข้ามลัทธิทหารของจอมพล ป.และสันติภาพเท่านั้น แต่มองถึงแนวคิดวิทยาศาสตร์-สิ่งแวดล้อม เป็นองค์ประกอบของการสร้างแนวคิดอันหนึ่ง เกี่ยวกับมนุษยภาพ ซึ่งการถ่ายทำฉาก “ช้าง” มโหฬาร ก็ต้องมีธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าประเด็นการเลือกสตรีเพียงคนเดียว แลกกับช้างก็เป็นข้อสำคัญ ที่สะท้อนแง่คิดตรงกันข้าม กระทบกับราชวงศ์หงสา ที่มีสตรีจำนวนมาก และจากพระเจ้าจักรา กลายเป็นพระเจ้าช้างเผือก อันเกี่ยวข้องหลักเวียนว่ายตายเกิดคน-สัตว์ โดยองค์ประกอบของสีภาพยนตร์ยุคขาว-ดำ ซึ่งต้องเน้นมุมกล้อง ให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกให้ความสำคัญกับเสียงดนตรี เพลงไทยสากลประกอบฉากโรแมนติกเล็กๆ ของพระ-นาง ฉากโอบเอวตอนจบ ทั้งคู่เดินหายลับขึ้นไปบนปราสาทกรุงอโยธยา
กระนั้น ด้านความสำคัญแก่ช้าง ทั้งที่ช้างเผือกหายไปในยุคของภาพยนตร์ โดยสะท้อนการหายไปของช้างเผือก เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และความเชื่อในการหายไปของความคิดเวียนว่ายตายเกิด แล้วภาพยนตร์ก็แสดงออกวัฒนธรรมไทยแบบไม่ใช่จารีตประเพณีปกติ ทั่วๆไป ไม่ว่าจะใช้ภาษาอังกฤษพูดสนทนากัน จึงต้องแปลความหมายเป็นราชาศัพท์ไทยอีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งประเด็นของนวนิยาย สะท้อนผ่านภาพยนตร์ในการยอมรับคำว่าไท คืออิสระ และใช้คำว่าไทย เกี่ยวโยงในทางปฏิบัติต่อมา กับเสรีไทย อันเป็นองค์กรใต้ดิน โดยรูธเป็นหัวหน้า คือปรีดี รวมถึงมีชื่อกลุ่มช้างเผือก เครื่องบินติดธงรูปช้างเผือก รวมถึงสร้างรหัสโดยพูนศุข พนมยงค์ก็เคยช่วยด้วย เขียนรหัสลายมือเป็นภาษาอังกฤษให้เสรีไทยสายอังกฤษถอดรหัส เป็นต้น (ต่อมาหลังสงครามโลก มีภาพยนตร์เกี่ยวกับแอนนาฯในปี พ.ศ.2490[lxxxiii])
แต่ว่า นั่นคือกรณียกตัวอย่าง ด้วยเหตุว่า กำลังอยู่ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 นั้น ก็อยู่ท่ามกลางบริบทคอมมิวนิสต์จีน เหมาเซตุง กำลังต่อสู้กับญี่ปุ่นและมีปรากฏในไทย[lxxxiv]

โดยบริบทของผลงานนวนิยายพระเจ้าช้างเผือก แต่งภาษาอังกฤษและภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ อยู่ในปีพ.ศ. 2483 ก็เกิดขึ้นคาบเกี่ยวญี่ปุ่นเข้ามาไทย ต่อมาภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก ฉาย ในปี พ.ศ. 2484 เรื่องเกี่ยวกับสงครามอโยธยา รบกับพม่า แต่แล้วก็เกิดไทยรบพม่าจริงๆ ในปี พ.ศ. 2485 คือสงครามเชียงตุง ซึ่งจำเป็นจะต้องรักษาเอกราชของชาติไว้[lxxxv] ให้ได้จากเจ้าอาณานิคม และญี่ปุ่น ดังกล่าวไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ของชาตินิยม ที่มีผลกระทบของสงครามต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งที่ผู้สร้าง คือ ปรีดี พนมยงค์ กับตัวบทของนวนิยาย-ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก รื้อให้เห็นความหมายที่เหนือกว่าชาตินิยม ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยการช่วงชิงความหมายของชาติโดยปรีดี ตรงกันข้ามกับอาณาเขต คือว่าด้วยสงครามแย่งชิงช้าง ทำให้สูญเสียทั้งคน และความหมายของการให้ความสำคัญกับช้างเผือก ดังนั้น ช้าง หรือ คนเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ในที่สุด ภาษาที่เป็นประโยคที่นำไปสู่การประสานกับภาพยนตร์ “สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี” คือ สันติภาพไร้พรมแดน.

----------------
· ผลงานชิ้นนี้ ผ่านความคิด ตกตะกอนจากปี พ.ศ. 2543 ยาวนาน 7ปี เพราะสมัยเรียนวิชา Art Criticism โดยกลุ่มของผม จัดกิจกรรมวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผมในฐานะตัวแทนของกลุ่ม ก็ติดต่อมูลนิธิหนังไทย กับคุณโดม สุขวงศ์ ส่งม้วนวิดิโอมาให้กับพวกผม จัดฉายภาพยนตร์ โดยแนะนำให้กลุ่มของผมส่งจดหมายแจ้งให้ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ รับทราบ ที่เกริ่นดังกล่าวไปแล้ว ในฐานะอดีคนักศึกษามช. (ลูกช้างคนหนึ่ง) ก็ขอบคุณ มูลนิธิหนังไทย ซึ่งผมเคยได้ส่งหนังสั้นเข้าประกวด รวมถึงได้รับโอกาสการฉายหนังด้วย สุดท้ายสำหรับ 66 ปี ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก”; 67 ปี ที่นิยายกำเนิดขึ้น และความผิดพลาดประการใดเป็นของผู้วิจัย ที่เคยมีผลงานวิจารณ์ภาพยนตร์เล็กน้อย
[i] John Hill and Pamela Church Gibson Edited. Stephen Crofts “Concepts of national cinema” in The Oxford Guide to Film Studies Oxford ; New York : Oxford University Press, 1998.: 385 และ Benedict Anderson. Imagined communities : reflections on the origin and spread of nationalism London : Verso, 1991.และเบน แอนเดอร์สัน ได้วิเคราะห์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง สัตว์ประหลาด ซึ่งเขามองอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องสัตว์ประหลาด เกี่ยวกับเสือสมิงไว้อย่างน่าสนใจ เช่น คนกลายเป็นเสือสมิง
[ii] สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ภาพยนตร์เอเชียอุษาคเนย์ ครั้งที่ 3 ที่มา http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=95
[iii] Thongchai Winichakul, Siam Mapped : a History of the geo-body of a Nation. Chiang Mai: Silkworm Books, 1994.
[iv] อ้าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน อรรคพล สาตุ้ม “การอ่านภาษาภาพจิตรกรรมกับอักษรธรรมล้านนา:ชื่อของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แม่น้ำโขง” นำเสนอการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษย์ศาสตร์ไทย ครั้งที่3 “ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม” คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) วันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2549.
[v] ดูเพิ่มเติมAnna Harruette Leonewens . “The original Anna and the King of Siam From The English Governess at The Siamese Court : Being Recollections of Six Years In The Royal Palace at Bangkok.” London : Trubner & co., 60, Paternoster Row : 139
[vi] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ “แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม” สารคดี พ.ย. ปีที่ 15 ฉ.177 , 2542 : 158-164
[vii] อสิธารา ค้นคว้า รวบรวมและเรียบเรียง งานและชีวิตของส.ธรรมยศ.กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2531 :126-127
[viii] สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ช้างไทย. กรุงเทพฯ : มติชน 2540 : 46-48
[ix] ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย กรุงเทพฯ : มติชน, 2546 : 100-103
[x] ซึ่งปรีดี พนมยงค์ กลับมาประเทศสยามแล้ว หลังจากสำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศสร่วมวางแผนก่อตั้งคณะราษฎรที่นั่น
[xi] ดูเพิ่มเติม ใน สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ช้างไทย. กรุงเทพฯ : มติชน 2540 : 95-99 ในหนังสือของ สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ไม่มีปรากฏข้อมูลว่า “ช้างเผือกหายไปไหน?” เปรียบเทียบกับผลงานของอารีย์ ทองแก้ว เรื่อง “ช้าง” ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสุรินทร์ เช่นกัน ไม่มีช้างเผือก ซึ่งต่อมาการกลับมาของช้างเผือกในรัชกาลที่ 9 มีช้างเผือกทั้งหมด 21เชือก และผู้วิจัยรับรู้เพิ่มเติมว่ามีการให้ความสำคัญของช้างเผือก คือช้างประจำชาติ ในปี พ.ศ. 2505 โดย เปิดประเด็นสำหรับการศึกษาต่อไปในอนาคต อาทิเช่นไม่มีสัญลักษณืช้างเผือกบนเหรียญกษาปณ์
[xii] ชาตรี ประกิตนนทการ การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547: 274-276
[xiii]Thongchai Winichakul, Siam Mapped : a History of the geo-body of a Nation. Chiang Mai: Silkworm Books, 1994. :129
[xiv] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. การศึกษาพรมแดนความรู้ทางประวัติศาสตร์ ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.:127
[xv] เฉลิมเกรียติ ผิวนวล ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ กรุงเทพฯ มูลนิธิโกมลคีมทอง,2529: 48-52
[xvi] อรรคพล สาตุ้ม ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงตอนบน: การหายไปของปลา
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2548 และ Akkaphon Satum. “Impact of
Development and Globalization on Natural Resources in the Upper Mekong River : TheDecline of Fish.”นำเสนอใน
งาน First ASEAN Graduate Scholars Workshop Organised By Asia Research Institute, National University of Singapore,
Singapore 28 – 29 July 2006.
[xvii] ความคิดแบบนี้ มีปรากฏใน ฟริต จ๊อบคอปร้า ในเรื่องชีวทัศน์เชิงกลไล และชีวทัศน์แบบดาร์วิน์เกี่ยวกับพันธุ์ศาสตร์แล้ว ยังใช้เพื่อการเมืองด้วย เช่น ในหนังสือจุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ.
[xviii]ไกรฤกษ์ นานา ภาพปลุกระดม ”ชาตินิยมโลก”ในสงครามโลกครั้งแรก สยามสู้วิกฤต ราชบัลลังก์โลกสะเทือน เมื่อสิ้นจักรวรรดินิยม ศิลปวัฒนธรรม ปีที่23 ฉ.14 ธ.ค. 2545 : 162
[xix] ไกรฤกษ์ นานา เรื่องเดียวกัน เพิ่งอ้าง : 160
[xx] โดม สุขวงศ์ หนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ไทย ในเว็บ มูลนิธิหนังไทย โดยบอกประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องภาพยนตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 และยุครัชกาลที่ 6 ฉายกระจกพระบรมรูปกษัตริย์ บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีด้วย
[xxi] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ รัฐศาสตรสาร ปีที่ 21 ฉ.3, 2542 :10
[xxii] ภาณุ อารี “ความรุ่งโรจน์ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคบุกเบิก (2470 - 2489)” ที่มาhttp://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9
[xxiii] สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ เพิ่งอ้าง : 219
[xxiv] สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ เพิ่งอ้าง หน้าเดียวกัน
[xxv] ซึ่งในส่วนของเอกชน ก็เริ่มมีภาพยนตร์ ที่เป็นธุรกิจข้ามชาติของฮอลลีวู้ด มีระบบการตลาด โฆษณาแบบทุนนิยม สร้างกระแสเกิดผลทางเศรษฐกิจเข้ามาในสยาม
[xxvi] โดม สุขวงศ์ ประวัติภาพยนตร์ไทย กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา 2533: 24
[xxvii] สุพจน์ ด่านตระกูล ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุค 2475 ที่ถูกบิดเบือน กรุงเทพฯ : สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, 2536 : 16-17
[xxviii]สุพจน์ ด่านตระกูล เพิ่งอ้าง : 32-33
[xxix] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อ้างแล้ว : 61
[xxx] กำพล จำปาพันธ์ การเมืองของการสมมตินามประเทศจากสยามและไทยกลายเป็นไทย(ระหว่างทศวรรษ ๒๔๓๐-๒๔๘๐) โดย( อ้างใน หลวงวิจิตรวาทการ การเมืองการปกครองกรุงสยาม 2475 ) ในวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 26 ฉ.1.มิย.-พย. 2546:76
[xxxi] อานันท์ กาญจนพันธุ์ “ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงในสังคมลานนาไทย (ระหว่างปี พ.ศ.2398-2520) “ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 ตุลาคม 2522- มีนาคม 2523 หน้า17-18
[xxxii] สันติสุข โสภณสิริ บก. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ“จากสยามเป็นไทย : นามนั้นสำคัญไฉน?” ใน ประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก, : 71-72
[xxxiii] เฉลียว พันธุ์สีดา หลวงวิจิตรวาทการและงานด้านประวัติศาสตร์ (อ้างในเหลวงวิจิตรวาทการ,ข้อความเบื้องต้น การเมืองการปกครองกรุงสยาม) กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2520 :109
[xxxiv] ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล “เบื้องหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕” ศิลปวัฒนธรรม ปี่ที่ 20 ฉ.8 มิ.ย. 2542 : 92
[xxxv] ณัฐพล ใจจริง “การรื้อสร้าง 2475” : ฝันจริงของนักอุดมคติ “น้ำเงินแท้” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉ. 2 ธค. 2548 :88-90
[xxxvi] นครินทร์ อ้างแล้ว : 51-53
[xxxvii] Wang Gungwu edited. Craig J Reynolds. “Nation and State in Histories of Nation-Building, with Special Reference to Thailand” in Nation-Building Five Southeast Asian Histories. Singapore, Institute of Southeast Asian Studies 2005: 29
[xxxviii] เขาดินวนา หรือสวนสัตว์ดุสิต เดิมเป็นพระราชอุทยานส่วนพระองค์ของร.5 ต่อมาในร.6 สร้างขึ้นบริเวณที่ราบด้านตะวันออกของพระราชวังดุสิต และจอมพล ป. ขอปรับปรุงเป็นส่วนสัตว์ ในที่สุด ตั้งชื่อว่าสวนสัตว์ดุสิต พ.ศ. 2481ส่วนในหนังสือจากสยามเก่าสูไทยใหม่ กล่าวว่า มีนิทรรศการที่มีความสำคัญ คือจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2482 ที่สนามเสือป่าหน้าเขาดินวนา
[xxxix] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ประเทศไทย”อายุครบ ๖๕: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี ๒๔๘๒ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉ.8 มิ.ย. 2547 : 82
[xl] อรรคพล สาตุ้ม ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ชาวจีนกับผู้ปกครอง ความเชื่อ พิธีกรรมในศาลเจ้าจีนจังหวัดเชียงใหม่http://www.thai-d.com/siam-china/silapawat/chiangmaichi.htm
[xli] สันติสุข โสภณสิริ บก. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ“จากสยามเป็นไทย : นามนั้นสำคัญไฉน?” ใน ประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก,2544: 57
[xlii] A P Cowie Chief Editor. A S Hornby. OXFORD ADVANCED LEARNER’S DICTIONARY OF CURRENT ENGLISH. Oxford University Press 1994: 116
[xliii] ก้องสกล กวินรวีกุล การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487 วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2545 : 57
[xliv] ทวีศักดิ์ เผือกสม “วาทกรรมการแพทย์สมัยใหม่ของตะวันตกกับการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทย:ข้อสังเกตเบื้องต้น” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 26 ฉ.2 ,2543 : 85
[xlv] โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ “จิตวิญญาณกับสุขภาพ”ใน มิติสุขภาพ:กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ.นนทบุรี:สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 2546 : 47
[xlvi] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สันติทฤษฎี \ วิถีวัฒนธรรม กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2539 : 130
[xlvii] ซึ่งถ้าพิจารณาในบริบท ปี 2485 เปรียบเทียบกับยึดเชียงตุง ที่ต้องการให้แผ่นดินไทยรวมกัน ในแง่สะท้อนอิทธิพลอาณานิคมเรื่องเชื้อชาติ และทฤษฎีวิวัฒนาการ
[xlviii] สุพรรณี กาญจนัษฐิติ ผู้เก็บความ “เรื่อง ชายแดนของประเทศสยามกับอินโดจีน การเรียกร้องสิทธิของชาวสยาม” จุลสารโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 3 ฉบับ 2 ม.ค.-มีค. 2519
[xlix] แถมสุข นุ่มนนท์ เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดวงกมล, 2521 : 39
[l]นับว่าแรงสนับสนุนของนักศึกษาเดินขบวนครั้งแรก น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญกับกรณีพิพาทอินโดจีน และ“เมื่อเกิดกรณีการพิพาทอินโดจีนแล้ว สิ่งนี้พอจะสรุปให้เห็นได้ว่าทำไมฝรั่งเศส จึงยอมให้ญี่ปุ่นยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย และเป็นที่น่าสังเกต อีกว่าไทยก็ยอมรับการแทรกแซงของญี่ปุ่นใน 2 วันต่อมา”
[li] ภรณี กาญจนัษฐิติ และชื่นจิตต์ อำไพพรรณ แปล,จอห์น แบสติน และแฮรี่ เจ.เบ็นดา เขียน ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ กรุงเทพฯ:โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2521:239-247
[lii] สันติสุข โสภณสิริ “รัฐไทยกับจักรวรรดินิยม” ปาจารยสาร ปีที่12 ฉ. 2,2538 : 31
[liii] สุรชาติ บำรุงสุข รัฐและกองทัพ ในโลกที่สาม: ข้อพิจารณาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: 2529: 73
[liv] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อ้างแล้ว เครือข่ายกับญี่ปุ่น เช่น พระสารสาสน์ฯ เขียนจดหมายจากโตเกียว-อาชญากรสงคราม เป็นต้น
[lv] ภาณุ อารี ความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคบุกเบิก (2470 - 2489)
ที่มา http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9
[lvi]ชาติชาย มุกสง. “วาทกรรมทางการแพทย์กับนโยบายการสร้างชาติ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-2487) สังคมศาสตร์ ฉ. 1/2548 : 60-61
[lvii] มรว.รุจยา อาภากร. “คน “ไท”กับเพื่อนบ้าน: กรณีเมืองเชียงตุง” ใน สรัสวดี อ๋องสกุล และโยชิยูกิ มาซูฮารา บก. การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท เชียงใหม่ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2544.:176-206
[lviii] อาจถูกมองข้ามสะพานแตกต่างกับ สะพานนวรัฐ (เปิดโดยพระองค์เจ้าบวรเดช) ที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่ โดยอำเภอฝาง คือ เป็นที่พบช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 7 (สถาปนาสะพานกษัตริย์ศึก) และยังมีเอกสารที่เชื้อสายเจ้านายเชียงใหม่ ถึงจอมพลป. เป็นต้น
[lix] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สงครามเชียงตุงครั้งสุดท้าย พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๘ เมืองโบราณ ปีที่ 20 ฉ.1 ม.ค.-มี.ค. 2537 :85-88
[lx] จอมพล ป. พิบูลสงคราม (รัฐบุรุษ ผู้ใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อทางการเมือง) ที่มา http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=50
[lxi]ประอรรัตน์ บูรณมาตร หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2528 :76
[lxii] กลุ่มเพลินจิตต์ ฯลฯ และส.ธรรมยศ มีเชื้อสายเจ้าลำปาง มีเครือข่ายภาคเหนือด้วย แต่ยาขอบ อยู่กลุ่มคณะสุภาพบุรุษ ทั้งที่มีเชื้อสายเจ้านายแพร่
[lxiii] อรรคพล สาตุ้ม “การอ่านภาษาภาพจิตรกรรมกับอักษรธรรมล้านนา:ชื่อของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แม่น้ำโขง” อ้างแล้ว
[lxiv] สายชล สัตยานุรักษ์ ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดย หลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545
[lxv] อรรคพล สาตุ้ม สวัสดีครับ…บทสัมภาษณ์ สสร.เรื่องรัฐธรรมนูญหลังยุคเสรีไทย
http://www.thaiwriternetwork.com/twncolumnread.php?id=174
[lxvi] เฉลียว พันธุ์สีดา อ้างแล้ว (ดูเพิ่มเติม ในหลวงวิจิตรวาทการ,ปาฐกถาเรื่องของดีในภาคอีสาน,” “นิพนธ์บางเรื่องของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการสมัยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากรในวิจิตรวาทการอนุสรณ์ เล่ม ๒…). : 231
[lxvii] สายชล สัตยานุรักษ์ อ้างแล้ว : 63-64
[lxviii] สมศักดิ์ อ้างแล้ว : 88
[lxix] “เรื่องมุ่งร้ายหมายขวัญ” ในวิจิตรวาทการอนุสรณ์ : 130
[lxx] กาญจนา แก้วเทพ สื่อส่องวัฒนธรรม กรุงเทพฯ : มูลนิธิภูมิปัญญา, 2539 :217
[lxxi] สุนทรี อาสะไวย์, ม.ล. วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์, กาญจนี ละอองศรี บก. เคร็ก เจ เรย์โนลด์ส “โครงเรื่องของประวัติศาสตร์ไทย: ทฤษฎีและการปฏิบัติ” ใน ไทยคดีศึกษา:รวมบทความทางวิชาการเพื่อแสดงมุทิตาจิต อาจารย์พันเอกหญิง คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, 2533
[lxxii] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ “๖๐ ปี พระเจ้าช้างเผือก” ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2544 ปีที่ 22 ฉ.10 ส.ค. 2544 : 120-123
[lxxiii] โดม สุขวงศ์ ชี้ให้เห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ เขียนถึงเหตุผลที่ท่านแต่งเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ไว้ในคำนำหนังสือนี้ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ และดูข้อมูลจำเพาะได้ใน พระเจ้าช้างเผือก : ช้างเผือกของหนังไทย The King of the White Elephant ที่มา http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=18&d_id=14
[lxxiv] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เพิ่งอ้าง: 120-123
[lxxv]สันห์ วสุธาร กับการกำกับการแสดง ที่มา http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=11&d_id=21
[lxxvi] พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายช้างได้ดีที่สุดในโลก http://www.thaifilm.com/newsDetail.asp?id=25
[lxxvii] การถ่ายภาพของประสาท สุขุม http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=10&d_id=22
[lxxviii] ประสาท สุขุม เพิ่งอ้าง
[lxxix]สุเจน กรรพฤทธิ์ “การกลับมาของพระเจ้าช้างเผือก" โดยข้อมูลอีกด้านว่า หนังออกฉายในแบบที่ "ยุคนั้นพากย์ไทยโดยทิดเขียวหรือนายสิน ศรีบุญเรือง ปรมาจารย์นักพากย์ ดังนั้นโฆษณาที่ปรากฏใน นสพ.ศรีกรุง นอกจากคนในเรื่องพูดไทยแล้ว ช้างก็พูดไทยด้วย ที่มา http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000132626
[lxxx] ดูเพิ่มเติม วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ “๑๐๐ ปี ของราษฎรไทย ชื่อ ปรีดี พนมยงค์” สารคดี ปีที่ 16 ฉ.182 เม.ย.2543 : 90 “ศัครูทางการเมืองของปรีดี …ส่งคนไปตะโกนในโรงหนังว่า ปรีดีฆ่าในหลวง” (ที่เริ่มแผนโค่นล้มประชาธิปไตย บดขยี้ทำลายนายปรีดีให้ย่อยยับ โดยการกระจายข่าวไปตามร้านกาแฟและสถานที่ต่างๆ ตลอดจนตามหน้าหนังสือพิมพ์….) ดังนั้น โรงภาพยนตร์อาจจะเป็นพื้นที่แห่งอาณาเขตยุคสมัยใหม่ เป็นต้น
[lxxxi] สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ “ช้างไทย” กรุงเทพฯ,มติชน,2540 : 228-229
[lxxxii]ดูแนวคิดภาพยนตร์ทางเลือก ใน Glen Lewis. “The Thai Movie Revival and Thai National Identity.” Contiuum:Journal of Media & Cultural Studies.Vol. 17,No1.2003. และแนวคิดสันติวิธี ในบทคัดย่อของ สุรัยยา เบ็ญโส๊ะ. แนวคิดสันติวิธีในเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ของปรีดี พนมยงค์ 2540. http://www.arts.chula.ac.th/~complit/thesis/thesis_th/2540.htm#4
[lxxxiii]ยังไม่โดนแบนเข้าประเทศไทยแต่ก็มีผลกระทบไม่ว่าจะกระแสต่อต้านจักรวรรดินิยม ที่มีผลจากภาพยนตร์เรื่องนี้ และความหมิ่นเหม่กับราชวงศ์
[lxxxiv] และแล้วเกิดอุดมการณ์ วันสันติภาพ ต่อมาความขัดแย้งขั้วเสรีนิยม กับคอมมิวนิสต์ -ขบวนการกบฏสันติภาพ ช่วงปี 2490 ต่อมา ซึ่งผู้วิจัยขอให้สันติภาพ มีอยู่ในภูมิศาสตร์ และทรัพยากรมนุษย์ตราบฟ้าดินสลาย
[lxxxv] สมบัติ จันทรวงศ์ ภาษาทางการเมือง : พัฒนาการของแนวอธิบายการเมืองและศัพท์การเมืองในงานเขียนประเภทสารคดีทางการเมืองของไทย พ.ศ. 2475-2525 กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533 :138

บรรณานุกรม
กาญจนา แก้วเทพ สื่อส่องวัฒนธรรม กรุงเทพฯ : มูลนิธิภูมิปัญญา, 2539.
ก้องสกล กวินรวีกุล การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487 วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2545.
กำพล จำปาพันธ์ การเมืองของการสมมตินามประเทศจากสยามและไทยกลายเป็นไทย(ระหว่างทศวรรษ ๒๔๓๐-๒๔๘๐) ในวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 26 ฉ.1.มิย.-พย. 2546.
ไกรฤกษ์ นานา ภาพปลุกระดม ”ชาตินิยมโลก”ในสงครามโลกครั้งแรก สยามสู้วิกฤต ราชบัลลังก์โลกสะเทือน เมื่อสิ้นจักรวรรดินิยม ศิลปวัฒนธรรม ปีที่23 ฉ.14 ธ.ค. 2545.
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ มิติสุขภาพ:กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ.นนทบุรี:สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 2546.
เฉลียว พันธุ์สีดา หลวงวิจิตรวาทการและงานด้านประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2520.
เฉลิมเกรียติ ผิวนวล ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ กรุงเทพฯ มูลนิธิโกมลคีมทอง,2529.
ชาตรี ประกิตนนทการ การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ “แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม” สารคดี พ.ย. ปีที่ 15 ฉ.177 , 2542.
______________ “๖๐ ปี พระเจ้าช้างเผือก” ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2544 ปีที่ 22 ฉ.10 ส.ค. 2544.
ชาติชาย มุกสง. “วาทกรรมทางการแพทย์กับนโยบายการสร้างชาติ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-2487) สังคมศาสตร์ ฉ. 1/2548.
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สันติทฤษฎี \ วิถีวัฒนธรรม กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2539.
ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย กรุงเทพฯ : มติชน, 2546
โดม สุขวงศ์ ประวัติภาพยนตร์ไทย กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา 2533.
ทวีศักดิ์ เผือกสม “วาทกรรมการแพทย์สมัยใหม่ของตะวันตกกับการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทย:ข้อสังเกตเบื้องต้น” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 26 ฉ.2 ,2543.
แถมสุข นุ่มนนท์ เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดวงกมล, 2521
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ รัฐศาสตรสาร ปีที่ 21 ฉ.3, 2542.
ณัฐพล ใจจริง “การรื้อสร้าง 2475” : ฝันจริงของนักอุดมคติ “น้ำเงินแท้” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉ. 2 ธค. 2548.
ปรีดี พนมยงค์ พระเจ้าช้างเผือก นครลอสแองเจอลีส : สมาคมธรรมศาสตร์ นครออสแองเจอลีส, สหรัฐอเมริกา, 2533.
ประอรรัตน์ บูรณมาตร หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2528.
พูนพิศมัย ดิศกุล(ม.จ.) “เบื้องหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕” ศิลปวัฒนธรรม ปี่ที่ 20 ฉ.8 มิ.ย. 2542.
ภรณี กาญจนัษฐิติ และชื่นจิตต์ อำไพพรรณ แปล,จอห์น แบสติน และแฮรี่ เจ.เบ็นดา เขียน ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ กรุงเทพฯ:โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2521.
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ “๑๐๐ ปี ของราษฎรไทย ชื่อ ปรีดี พนมยงค์” สารคดี ปีที่ 16 ฉ.182 เม.ย.2543.
วิจิตรวาทการอนุสรณ์ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ:[ม.ป.พ.],2505.
สายชล สัตยานุรักษ์ ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดย หลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.
สรัสวดี อ๋องสกุล และโยชิยูกิ มาซูฮารา บก. การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท เชียงใหม่ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2544.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ประเทศไทย”อายุครบ ๖๕: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี ๒๔๘๒ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉ.8 มิ.ย. 2547.
สมบัติ จันทรวงศ์ ภาษาทางการเมือง : พัฒนาการของแนวอธิบายการเมืองและศัพท์การเมืองในงานเขียนประเภทสารคดีทางการเมืองของไทย พ.ศ. 2475-2525 กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533.
สุรชาติ บำรุงสุข รัฐและกองทัพ ในโลกที่สาม: ข้อพิจารณาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: 2529.
สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ช้างไทย. กรุงเทพฯ : มติชน 2540.
สุพจน์ ด่านตระกูล ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุค 2475 ที่ถูกบิดเบือน กรุงเทพฯ : สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, 2536.
สุพรรณี กาญจนัษฐิติ ผู้เก็บความ “เรื่อง ชายแดนของประเทศสยามกับอินโดจีน การเรียกร้องสิทธิของชาวสยาม” จุลสารโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 3 ฉบับ 2 ม.ค.-มี.ค. 2519.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สงครามเชียงตุงครั้งสุดท้าย พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๘ เมืองโบราณ ปีที่ 20 ฉ.1 ม.ค.-มี.ค. 2537.
สุนทรี อาสะไวย์, ม.ล. วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์, กาญจนี ละอองศรี บก. ไทยคดีศึกษา:รวมบทความทางวิชาการเพื่อแสดงมุทิตาจิต อาจารย์พันเอกหญิง คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, 2533.
สันติสุข โสภณสิริ บก. ประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก,2544.
สันติสุข โสภณสิริ “รัฐไทยกับจักรวรรดินิยม” ปาจารยสาร ปีที่12 ฉ. 2,2538.
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. การศึกษาพรมแดนความรู้ทางประวัติศาสตร์ ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.
อรรคพล สาตุ้ม “การอ่านภาษาภาพจิตรกรรมกับอักษรธรรมล้านนา:ชื่อของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แม่น้ำโขง” นำเสนอการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษย์ศาสตร์ไทย ครั้งที่3 “ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม” คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) วันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2549.
­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­____________ ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขง
ตอนบน: การหายไปของปลา วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะบัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2548.
อสิธารา ค้นคว้า รวบรวมและเรียบเรียง งานและชีวิตของส.ธรรมยศ.กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2531
อานันท์ กาญจนพันธุ์ “ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงในสังคมลานนาไทย (ระหว่างปี พ.ศ.2398-2520)” สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 ตุลาคม 2522- มีนาคม 2523.

ภาษาอังกฤษ
A P Cowie Chief Editor. A S Hornby. OXFORD ADVANCED LEARNER’S DICTIONARY OF CURRENT ENGLISH. Oxford University Press 1994.
Anna Harruette Leonewens . “The original Anna and the King of Siam From The English Governess at The Siamese Court : Being Recollections of Six Years In The Royal Palace at Bangkok.” London : Trubner & co., 60, Paternoster Row.
Akkaphon Satum. “Impact of Development and Globalization on Natural Resources in the
Upper Mekong River : TheDecline of Fish.”นำเสนอในงาน First ASEAN Graduate Scholars
Workshop Organised By Asia Research Institute, National University of Singapore, Singapore
28– 29 July 2006.
Benedict Anderson. Imagined communities : reflections on the origin and spread of nationalism London : Verso, 1991.
Glen Lewis. “The Thai Movie Revival and Thai National Identity.” Contiuum:Journal of Media & Cultural Studies.Vol. 17,No1.2003.
John Hill and Pamela Church Gibson Edited.The Oxford Guide to Film Studies Oxford ; New York : Oxford University Press, 1998.
Thongchai Winichakul, Siam Mapped : a History of the geo-body of a Nation. Chiang Mai: Silkworm Books, 1994.
Wang Gungwu edited. Nation-Building Five Southeast Asian Histories. Singapore, Institute of Southeast Asian Studies 2005.

ข้อมูลในอินเตอร์เน็ต
โดม สุขวงศ์ พระเจ้าช้างเผือก : ช้างเผือกของหนังไทย The King of the White Elephant ที่มา http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=18&d_id=14
โดม สุขวงศ์ หนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ไทย ในเว็บ มูลนิธิหนังไทย(ข้อดีการกินเจ)
ภาณุ อารี “ความรุ่งโรจน์ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคบุกเบิก (2470 - 2489)”
ที่มาhttp://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9
พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายช้างได้ดีที่สุดในโลก ที่มาhttp://www.thaifilm.com/newsDetail.asp?id=25
เบน แอนเดอร์สัน เขียน มุกหอม วงษ์เทศ แปล* “สัตว์ประหลาดอะไรวะ?”
ที่มาhttp://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0603010749&srcday=2006/07/01&search=no
สันห์ วสุธาร กับการกำกับการแสดง
ที่มา http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=11&d_id=21
สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ภาพยนตร์เอเชียอุษาคเนย์ ครั้งที่ 3
ที่มา http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=95
สุเจน กรรพฤทธิ์ “การกลับมาของพระเจ้าช้างเผือก”
ที่มา http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000132626
สุรัยยา เบ็ญโส๊ะ. แนวคิดสันติวิธีในเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ของปรีดี พนมยงค์ 2540.
ที่มา http://www.arts.chula.ac.th/~complit/thesis/thesis_th/2540.htm#4
อรรคพล สาตุ้ม ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ชาวจีนกับผู้ปกครอง ความเชื่อ พิธีกรรมในศาลเจ้าจีนจังหวัดเชียงใหม่ ที่มาhttp://www.thai-d.com/siam-china/silapawat/chiangmaichi.htm
___________ สวัสดีครับ…บทสัมภาษณ์ สสร.เรื่องรัฐธรรมนูญหลังยุคเสรีไทย
ที่มาhttp://www.thaiwriternetwork.com/twncolumnread.php?id=174
ไม่ทราบผู้เขียน การถ่ายภาพของประสาท สุขุม
ที่มาhttp://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=10&d_id=22





หมายเหตู : บทความ เมื่อวันที่ 17-18 พ.ย. (2550)ที่ผ่านมา มูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี จัดงานประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งแรกในประเทศไทย ณ แกลเลอรี่ 2 บางกอกโค้ด (ศูนย์ชุมชนน่าอยู่กรุงเทพ) ถ. สาธรใต้ สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยพัฒนาวงการศึกษาภาพยนตร์ในประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นเสมือนเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจภาพยนตร์ไทยในแง่เชิงวิชาการ ภายในงานจะมีการนำเสนองานวิจัยและบทความเชิงวิชาการเกี่ยวกับภาพยนตร์ 13 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมประเด็นตั้งแต่ กระบวนการศึกษาภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม ความเป็นไทย อัตลักษณ์ ลัทธิหลังสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดฉายภาพยนตร์ชาติพันธุ์ และการสัมมนาเรื่อง การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ : การคุกคามเสรีภาพทางปัญญา

โดยในหัวข้อ ชาตินิยม และ ความเป็นไทย ในภาพยนตร์ไทย อรรคพล สาตุ้ม นักวิชาการและคนทำงานศิลปะอิสระ ได้นำเสนอมุมมองเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก ผลงานของปรีดี พนมยงค์ ที่เหนือกว่าชาตินิยม”

ซึ่งประชาไทขอนำเสนอในรายงานชุด “ย้อนดูภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’: สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม” โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน ซึ่งวันนี้จะขอเสนอตอนที่ 2

ดูเพิ่มเติม
http://www.prachatai.com/05web/th/home/10753