วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

ผลกระทบของการพัฒนา และโลกาภิวัตน์ ต่อภูมิจักรวาล : “การอ่านอนุสาวรีย์ของปลาบึก” ในภาพสะท้อน ที่ วัดหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ผลกระทบของการพัฒนา และโลกาภิวัตน์ ต่อภูมิจักรวาล : “การอ่านอนุสาวรีย์ของปลาบึก” ในภาพสะท้อน ที่ วัดหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

อรรคพล สาตุ้ม

นักข่าวประชาไทและเจ้าหน้าที่พิเศษโครงการย้อนร้อยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์

บทนำ
ความงดงามของผลงานโดยจินตนาการของคนในอดีต ไม่ว่าจากภาพลักษณ์ของชั้นเชิงวรรณศิลป์ในงานวรรณคดีลิลิตพระลอ ที่มีชื่อ“แม่น้ำกาหลง”(คือแม่น้ำของ) ในที่นี้ กาหลง(ไม่ได้หมายถึงเวียงกาหลง) และการกล่าวถึงชื่อ แม่น้ำของ(โขง) และวาดภาพเชิงศิลปะในสมุดภาพไตรภูมิ กรุงศรีอยุธยา หมายเลขที่ ๖ (มีความเป็นจริงบ้าง) รวมถึงการกล่าวถึงชื่อแม่น้ำของ ในนาม “ขรนที”(แม่น้ำของ) ก็ตาม ท่ามกลางความหลากหลายของชื่อแม่น้ำของ ฯลฯ เป็นต้น
กระนั้น มีการกล่าวถึงที่มาของชื่อแม่น้ำของ หรือแม่น้ำโขง อยู่พอสมควรแล้ว แต่ว่าแง่มุมมองประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับการหายไปของปลาในแม่น้ำของ(โขง) เกิดขึ้นจากอะไร? ซึ่งรหัสนิเวศวัฒนธรรมในลิลิตพระลอ ที่กล่าวถึงกาหลง(แม่น้ำของ-โขง) แต่ไม่มีกล่าวถึงปลา ถ้าอธิบายเชิงนิเวศวัฒนธรรม และจากความคิด การแต่งของวรรณคดีถึงศาสนา เกี่ยวกับระบบนิเวศ สะท้อนการเวียนว่ายตายเกิด ตามกฏแห่งกรรมและธรรมชาติ ส่วนกรณีในส่วนภาพปลา และแม่น้ำของหายไป ที่มุ่งเน้นสมุดภาพไตรภูมิ กรุงศรีอยุธยา อื่นๆ โดยใช้วิธีการเชิงประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อการตั้งสมมุติฐานว่าผลงานของสมัยใด(โดยมีผู้ตั้งสมมุติฐาน ดังนี้ รุ่งโรจน์ภิมนย์อนุกูล,พิริยะ ไกรฤกษ์, ไมเคิล ไรท เป็นต้น) หรือสมุดภาพไตรภูมิฯของล้านนา อื่นๆ คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าผู้เขียนจะมีโอกาสเขียนในครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ เน้นนำเสนอ (๑) การอ่านพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ในสมุดภาพไตรภูมิ กรุงศรีอยุธยา หมายเลขที่ ๖ กับชุมชนจินตนาการ ก่อนมีรัฐชาติ :เขตแดน จนมีแผนที่ชัดเจนมากขึ้น และ(๒) สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์อุตตรกุรุ(คือ ไตรภูมิ-ศรีอาริยเมตไตร):ดินแดนอัศจรรย์ของเอเชีย และเกิดวรรณคดีสโมสรยกย่องลิลิตพระลอ- อนุสาวรีย์ย่าเหล และกรมรักษาสัตว์น้ำ คือกรมประมง และ (๓)การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ในสังคม ที่มีการสร้างแผนที่สมัยใหม่ รวมอาณาจักรล้านนาเข้าสู่สยาม เพราะโลกทัศน์ใหม่ทางสิ่งแวดล้อมของกรมประมง โดยเชื่อมโยงบริบทในป้ายและอนุสาวรีย์ปลาบึก-พิพิธภัณฑ์ปลาบึก ดังนั้นผลของคำตอบง่ายๆ จากการหายไปของปลาในแม่น้ำของ ซึ่งปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิ กรุงศรีอยุธยา หมายเลขที่ ๖และจะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการพัฒนา-โลกาภิวัตน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำของ(โขง)ตอนบน:การหายไปของปลาพันธุ์อื่นๆในปัจจุบัน



การเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำของ :ความรู้ชนิดต่างๆ กับนิเวศวัฒนธรรม

ดูรูปประกอบ http://www.prachatai.com/05web/upload/HilightNews/library/200706/05_190621_72.JPG
ปรากฏภาพ แม่น้ำของกับปลา

สมุดภาพไตรภูมิ กรุงศรีอยุธยา หมายเลขที่ ๖ (ที่มา: สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-กรงุธนบุรี เล่ม ๑-๒ )
“แผนที่มีภาพแม่น้ำของ (น้ำของ เรียกตามคนเชียงของ) ซึ่งข้อสังเกตภาพในสมุดภาพไตรภูมิกรุง ศรีอยุธยา หมายเลข ๘ และสมุดภาพไตรภูมิ กรุงธนบุรี หมายเลข ๑๐ ก. ไม่มีแม่น้ำของปรากฏ(ทั้งที่อิทธิพลจากวรรณกรรมไตรภูมิพระร่วง) และส่วนสมุดภาพฯ หมายเลข ๘,๑๐ ก. (ปลาได้หายไป) น้ำแม่ของหรือแม่น้ำโขง และปลา ที่ผูกพันกับระบบนิเวศ แสดงถึงแม่น้ำไหลออกมาจากป่าหิมพานต์ ในชมพูทวีปตามคติจักรวาลแบบไตรภูมิ และแสดงเมืองเชียงราย เชียงแสน ต่างๆในประเทศไทยกับเพื่อนบ้าน ที่มีพระธาตุสำคัญต่างๆ ดังนั้น จึงมีจินตนาการและความเป็นจริงปรากฏอยู่ ดังทีมีการเป็นเมืองของชุมชน คือแสดงความคิดเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ สะท้อนสังคมวิทยาความเป็นเมืองกับระบบนิเวศ ก็บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ล้านนากับอยุธยา”

การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยุคกรุงธนบุรี ถึงรัตนโกสินทร์
เมื่อเกิดการฟื้นอาณาจักรยนแปลงทางการเมือง ยุคกรุงธนบุรี ถึงรัตนโกสินทร์ล้านนาขึ้นมาใหม่ หลังการถูกปกครองโดยพม่า ซึ่งจากการช่วยเหลือของพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อสู้รบกับพม่าแล้ว โดยขอกล่าวอย่างรวบรัดจากกรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยยุคต้นรัตนโกสินทร์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ปรับปรุงความคิด และคัมภีร์ศาสนา ถึงพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิโลกวินิจฉัย เป็นต้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และทางด้านความสัมพันธ์เศรษฐกิจในอดีตของชุมชนเชียงของ ขึ้นอยู่กับอาณาจักรล้านนา ก็สัมพันธ์กับเส้นทางการค้า เป็นเหมือนเขตเศรษฐกิจชาวบ้าน เส้นทางการค้า ทั้งสามสายจากการค้าในระบบการคมนาคมทางบกจากตาลีและคุนหมิงนี้ มีความสำคัญมากสำหรับการยังชีพของชุมชนต่างๆ เพราะว่าอยู่ในเขตภูดอยห่างไกลเมืองเช่นนี้ ซึ่งต่อมามีการคิดพัฒนาเส้นทางการค้า โดยเป็นช่วงที่สมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้นำนิพนธ์ทั้งในหมวดร้อยแก้ว และร้อยกรอง จารึกลงในแผ่นศิลาที่วัดเชตุพนฯ เพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษาแก่คน โดยกลโคลงอาจจะอาศัยเค้าความคิดกลโคลงในประชุมจารึกวัดเชตุพนฯ แน่นอนว่า แนวทางวรรณกรรม กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ “กลโคลง” คือ การเชื่อมวรรณคดี กับจิตรกรรม โดยเป็นภาพวาดผสมกลโคลง ก็เกิดขึ้นช่วงสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือรัชกาลที่ ๒[1] นั่นเอง ซึ่งพอถึงในรัชกาลที่ ๓ ก็มีความเจริญทางศิลปกรรมเปล่งปลั่งรุ่งเรือง เกิดผลงานคลาสิค ก่อนเป็นศิลปกรรมขนบสัจนิยม โดยรับอิทธิพลทางยุโรป และเริ่มมีปัญหาจากจักรวรรดินิยมยุโรป เป็นต้นมา

โดยความคิดชุดใหม่แบบตะวันตกเข้ามา แม้แต่ในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืด เริ่มได้รับความสนใจ ประมาณพ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นผลมาจากการยกเลิกการเก็บอากรค่าน้ำในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ราษฎร์ต่างแย่งกันจับปลา จนมีเรื่องทะเลาะกันอยู่เป็นประจำ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าให้รื้อฟื้นการจัดเก็บอากรค่าน้ำขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๙๔ โดยหวังผลประโยชน์ คือ การเก็บภาษีอากร และให้พอมีสัตว์น้ำเป็นอาหารสำหรับประชาชน และให้มีสัตว์น้ำเป็นสินค้าแก่ประเทศ แต่ว่าปัญหาของการเข้ามายึดครองพื้นที่อาณาเขตของตะวันตก คือ การล่าอาณานิคมเพื่อการค้า โดยสัมพันธ์กับแม่น้ำของ(โขง) และการเข้ามาของฝรั่งเศสยังได้บุกรุกเข้าครอบครองต่อทรัพยากรในแม่น้ำของ(โขง) โดยเกิดการแปลแม่น้ำของ เป็นแม่น้ำโขงด้วย กับการเพื่อให้ได้เป็นอาณานิคมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการใช้แม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติสำหรับอาณานิคมของตน ผลดังกล่าวทำให้ก่อเกิดแนวคิดสร้างรัฐชาติ มีพรมแดนเป็นการผนวกกลืนอาณาจักรเพื่อสร้างความมั่นคงเข้ามาในรัฐ ตามอิทธิพลภูมิศาสตร์ของวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก ทำให้ต้องมีการสร้างนิยามรัฐชาติ มีผลทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาษี การศึกษา และวัฒนธรรม ในรัชกาลที่ ๔ ก็ได้นำเหตุผล และเทคโนโลยีใช้ผลิตแผนที่ ทั้งที่ยุคก่อนไม่จริงจังเรื่องพรมแดน แต่โดนแรงบีบจากการขู่ทำสงครามจากตะวันตก เพราะว่าสยามไม่ทันสมัย จึงต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดภูมิศาสตร์

ดังนั้น การรับรู้ธรรมชาติแบบใหม่เพิ่งเกิดรัชกาลที่ ๔ กลายเป็นรากฐานความรู้ ความจริง เชิงประจักษ์ทางกายภาพ ก่อนหน้านี้ สยามรับรู้และให้ความหมายแก่ภูมิศาสตร์ด้วยชุดความรู้ทางพื้นที่แบบไตรภูมิ แต่ว่าเหตุภัยจากการล่าอาณานิคม ก็นำไปสู่ อาณาเขตว่าด้วยภายใต้จุดหนึ่งในพลังแผนที่ กับการต่อรองระหว่างสยามและฝรั่งเศสเพื่อเข้าถึงภูมิภาคลาวในแม่น้ำโขงตอนบน ก็เกิดการหายไปของอาณาเขตสยาม ซึ่งสิ่งนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริงของสยาม แต่พลังของตัวตนภูมิศาสตร์ของสยามและการรวมอาณาเขตสิ่งที่หายไปกลับปรากฏเข้ามาในแผนที่ เพราะเพื่อการช่วงชิงสร้างแผนที่ในสังคมสมัยใหม่[2] โดยการเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตกในดินแดนล้านนา ส่งผลทำให้ล้านนา ที่มีความสัมพันธ์กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ที่ครอบครองดินแดนพม่ามากขึ้น เนื่องจากการปกครองเมืองประเทศราชของสยาม มีนโยบายให้อิสระในการปกครองตนเองอย่างมากทำให้ล้านนาผูกพันกับการค้าขายต่อชาวอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษโดยผ่านเมืองมอญของพม่า ดังนั้น แผนที่ช่วยเป็นอำนาจของการสร้างเขตแดนที่ชัดเจน

ดังกล่าวว่า สมัยรัชกาลที่ ๕ ยุคปฏิรูปที่ดิน[3] สยามถูกดึงเข้ากระแสพัฒนาแนวตะวันตกอย่างไม่อาจหลีกได้ เมื่อพิจารณาในเชิงการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมแล้ว มีการจัดการทรัพยากรใหม่ตามระบบตะวันตก จากนั้นผลของการพัฒนาโดยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตก และแผนที่ อื่นๆ รวมถึงการแก้ไขความวุ่นวายในการปฎิรูปการปกครองล้านนา ทำให้มีผลต่อการแบ่งพื้นที่เขตแดน และด้านต่างๆก็ให้รับการศึกษาเรียนภาษาไทยภาคกลางที่กลืนล้านนา ทางด้านศาสนาพุทธ และเรียกชื่อแม่น้ำโขง เป็นต้น ต่อมาในยุครัชกาลที่ ๖ เริ่มมีการอนุรักษ์สัตว์น้ำอย่างแท้จริง นับเป็นก้าวแรกของการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ส่วนกระทรวงพระคลังฯ มีหน้าที่ในการปกครองพื้นที่จับสัตว์น้ำ และเงินอากรในที่จับสัตว์น้ำ รวมถึงการเก็บเงินค่าอากรน้ำ ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๖๖ พระยาเมธาธิบดี ผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา ได้ติดต่อ ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิท ผู้ชำนาญเรื่องปลามาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้สำรวจพันธุ์สัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำทะเลของไทยเกือบทั่วราชอาณาจักร(อนุมานว่า ถ้ากรมแผนที่ ช่วยสำรวจอาณาเขตของรัฐ ส่วนกรมรักษาสัตว์น้ำก็ตามรอยเขตแดนอาณาจักร ที่มีสัตว์น้ำปรากฏในแม่น้ำ) แล้วเขียนรายงานเกี่ยวกับทรัพยากรในน้ำและการประมง(ไทย) พร้อมผังการบริหารงานขึ้นทูลเกล้าฯ และเสนอต่อสภาเผยแผ่พาณิชย์ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันให้ตั้ง กรมรักษาสัตว์น้ำ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าฯ(บทบาทชาตินิยม ) โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๖๙ โดยมี ดร.สมิท เป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ ซึ่งก็คือกรมประมงในปัจจุบัน[4] ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนที่ถูกผนวกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ผ่านทางความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของแผนที่ และความรู้เรื่องการจัดการของการจับปลาทางกรมประมงแบบวิทยาศาสตร์ภายใต้รัฐ(ชาตินิยม)

เหตุการณ์สำคัญในรัชกาลที่ ๖ ก่อนเกิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระอัจฉริยะภาพ ทั้งด้านการละคร การแสดง และปรากฏผลงานภาพฝีพระหัตถ์ ที่เป็นภาพล้อ หรือการ์ตูน(ดังที่เกิดภาพล้อพระองค์ทรงนำคนสยามชักรอกขึ้นเหนือคนเขมร ญวน ด้วยปรีชา วิริยภาพ ด้านกสิกรรม และหัตถกรรม การศึกษา ทหาร ฯลฯ) นอกจากนั้น พระองค์ทรงพระปรีชา ด้านโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ ดังปรากฏผลงาน“เที่ยวเมืองพระร่าง” และเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” และ “เทศนาเสือป่า” เป็นต้น ก็ส่งผลต่อพลังอำนาจ ที่กำลังร่วมกับแนวคิด หรือ อุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันสะท้อนพระพุทธศาสนาประจำชาติออกมา ซึ่งรับอิทธิพลจากสมัยรัชกาลที่ ๕ ในส่วนด้านอื่นๆ ก็มีความสำคัญ ท่ามกลางความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการค้า แนวทางทุนนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๖ และด้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สงครามโลกครั้งที่ ๑ ทรงส่งทหารเข้าร่วมการรบในสงคราม ในส่วนสำคัญ ในกรณีผลพวงจากการเสียดินแดนฝั่งซ้าย และฝั่งขวาแม่น้ำโขง ทำให้เชียงของส่วนหนึ่งตกเป็นของฝรั่งเศส หรือกบฏเงี้ยว ฯลฯ แม้แต่ในเชียงของก็ตาม ทำให้มีการปฏิรูปต่อจากรัชกาลที่ ๕ ทรงยกเมืองขึ้นเป็นจังหวัดนั้น กระบวนการการสร้างสำนึกของชาติยังไม่สิ้นสุด เพราะการยกเมืองเชียงราย ให้อยู่ในมณฑลพายัพ พ.ศ.๒๔๕๓ ถึงรัชกาลที่ ๖ เกิดปัญหาปีพ.ศ. ๒๔๕๕ คือ กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ และในปีพ.ศ. ๒๔๕๘(ห่างกัน ๕ ปี) โปรดให้รวบรวมมณฑลต่างๆ ออกรวมเป็น ๔ ภาค ปักษ์ใต้ พายัพ อีสานและอยุธยา ส่วนกรุงเทพมหานาครนั้นเป็นอีกมณฑลหนึ่งต่างหาก ต่อมาก็เลิกตำแหน่งเจ้าเมือง โดยเจ้าเมืองคนสุดท้ายของเชียงของ คือพระยาจิตวงษ์วรยศรังษี โดยยกเลิกตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๕๓ ต่อมาเชียงของ ซึ่งเคยขึ้นอยู่กับน่าน กลายเป็นขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงราย

กล่าวโดยสรุป จากแม่น้ำของ หรือ แม่น้ำโขง ที่มีแผนที่สมัยใหม่เกิดขึ้นแล้ว ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ในสมัยรัชกาลที่ ๗ และเกิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามมานั้น ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงก่อตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำ ก็มีปรากฏการณ์ของป้ายจารึกและอนุสาวรีย์ ที่สำคัญเกี่ยวกับสุนัข คือ อนุสาวรีย์สุนัขย่าเหล โดยมีคำจารึกเป็นส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์ ทำให้ทราบเหตุผลในการก่อสร้างไว้ หมายถึงเพื่อเป็นพยานรัก ที่แสดงความซื่อสัตย์ระหว่างสุนัขตัวนี้ กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดังนั้น ความดีงามของสุนัขย่าเหล ได้รับการยกย่อง ทำให้เห็นภาพของรัชกาลที่ ๖ ทรงรักชาติ และรักสุนัขย่าเหลมากมายนัก ก็ด้วยความรักชาติ โดยรัชกาลที่ ๖ ทรงเสริมสร้าง “กรมรักษาสัตว์น้ำ ก็คือ กรมประมง” ก็เพื่อความรักในการรักษาสัตว์น้ำ เหมือนกับความรักต่อสุนัขย่าเหล จึงสร้างอนุสาวรีย์สุนัขย่าเหล ซึ่งสะท้อนปฏิบัติการว่า เกิดพลังการเมืองบางอย่างที่ส่งสารออกมาใน ทางนโยบาย ฉะนั้น การนิยามว่าเป็นอนุสาวรีย์ ในรูปแบบไม่เกี่ยวกับความหมายของความรักใดๆ ก็ไม่ได้เลย ดังกล่าวไปแล้ว ในรัชกาลที่ ๖ ทรงให้คุณค่า แก่วรรณคดี โปรดให้ตั้ง วรรณคดีสโมสร ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ ซึ่งได้แก่เรื่อง “ลิลิตพระลอ” ถูกจัดให้ยอดเยี่ยม ด้าน “โคลงลิลิต” เป็นต้น แน่นอนว่าการคัดเลือกให้ผลงานชิ้นไหนยอดเยี่ยม ก็ไม่ใช่ว่าเรื่องธรรมดา เพราะ ยังมีผลงานรับรางวัลยอดเยี่ยมอื่นๆ เช่น ด้าน กลอนเสภา ได้แก่ เสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน และยอดเยี่ยมในด้านความเรียงประเภทนิทาน คือ พระราชนิพนธ์ไกลบ้านของรัชกาลที่ ๕ ส่วนยอดเยี่ยมในด้านละครพูด คือ หัวใจนักรบ (รัชกาลที่ ๖)และด้านบทละครฉันท์ คือ มัทนพาธา (รัชกาลที่ ๖) และยอดเยี่ยมในด้านนิทานไทย คือ พระอภัยมณี เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาของวรรณคดีลิลิตพระลอ ก็สะท้อนความเชื่อในการเสี่ยงทายกับแม่น้ำกาหลงของพระลอ และวรรณคดีสะท้อนอนุสาวรีย์แห่งความรักโดยมีสถูปก็ปรากฏอยู่ในตอนจบของเรื่องนั้น โดยสะท้อนออกมาว่ารัชกาลที่ ๖ ทรงรักวรรณคดีลิลิตพระลอ ที่มีแม่น้ำกาหลง หรือแม่น้ำของ ก็ตาม

อนึ่ง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของรัฐราชสมบัติสยามขณะนั้น กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลง และการท้าทายอย่างใหม่ โดยกระแสความคิดทางการเมืองการปกครอง และลัทธิสังคมเศรษฐกิจ เช่น คอนสติติวชั่น ปาลิเมนต์ เก๊กเหม็ง รีปับลิก อานาคิช โสเชียลิสต์ ฯลฯ สะพัดอยู่ในหมู่ชนชั้นกลางทั้งในและนอกราชการ อันเป็นชนชั้นนักอ่าน นักเขียน นักแปลในสยาม สุดที่พระราชอำนาจสมบูรณ์ทางทฤษฎี ทว่าถูกจำกัดในทางปฏิบัติจากสิทธิสภาพนอกเขตของฝรั่ง และระบบราชการสมัยใหม่ ซึ่งเติบโตพร้อมกับทุนจีนเสรี ต่างๆ ในสถานการณ์นั้น รัชกาลที่ ๖ ทรงพระนิพนธ์ อุตตรกุรุ : ดินแดนอัศจรรย์ของเอเชีย คือ รัชกาลที่ ๖ ทรงเปรียบเทียบแนวคิด ยูโทเปีย และลัทธิโสเชียลิสต์สมัยใหม่ โดยเปรียบว่า สิ่งนั้นมีอยู่ในไตรภูมิ-อุตรกุรุทวีป-ยุคพระศรีอาริย์ แม้ว่าในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระนิพนธ์บทความดังกล่าว ก็สะท้อนคติไตรภูมิ- พุทธศาสนา และลิลิตพระลอ มีอิทธิพลต่อความคิดของคนอยู่ด้วย จนกระทั่งสิ้นสุดรัชกาลที่ ๖ ก็มาถึง รัชกาลที่ ๗ แล้ว ก็เกิดขบวนการ คือ คณะราษฎร ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตย ในสมัยรัชกาลที่ ๗

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของร่องรอยการเปลี่ยนผ่านของภาพแม่น้ำของ(โขง) และปลา ก็มีผลจากเปลี่ยนแปลงทั้งหมด หลังประเทศไทยเกิดขึ้นแทนสยาม ตามระบอบประชาธิปไตยโดยนิยามเขตแดนอำนาจของแผนที่ชัดเจนมากขึ้น และการมีเพลงปลุกใจ ที่ใช้คำว่า แม่น้ำโขง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อเรียกร้องดินแดนในสองฝั่งของ(โขง) ซึ่งหลังสงครามโลกเป็นต้นมา มีคนอย่าง นายผี หรือ อัคนี พล จันทร์ ผู้แต่งกลอนเกี่ยวกับ “น้ำของ” ก็มีประเด็น “วิวาทะอุตตรกุรุ” โดยกล่าวอย่างรวบรัดว่า “อุตตรกุรุ[5]” “ดูทีเปนของมีได้ในภพนี้”และหยอดแถมท้ายต่อมาอีกว่า “คือประเทศหนึ่งอยู่ทางเหนือเปนสหภาพ….” โดยทิ้งว่างไว้เช่นนั้นให้ผู้อ่านเติมเอาเอง ในท่ามกลางกระแสสหภาพโซเวียตกำลังมาแรง ท่ามกลางอุดมการณ์ชาตินิยม ก็มีปรากฏการณ์ทำให้เกิดพระพุทธรูป ที่ปั้นในช่วงกระแสชาตินิยมแบบจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นต้น (เหมือนกับการ“แต่ง กับสร้าง”อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี )

ในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงของชื่อ แม่น้ำของ ในท้องถิ่น ที่ไม่ต้องการความแตกต่างของภาษามากนัก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และรวมถึงการรณรงค์เรียกชื่อแม่น้ำโขง ให้ไม่เหมือนแม่น้ำของ หรือน้ำของ ด้วยวิธีการต่างๆนานา โดยชื่อแม่น้ำโขง ในภาษาราชการ และแบบดังกล่าวที่ว่า สร้างเพลงปลุกใจ ก็กลายเป็นเรียกติดปากตามสมัยใหม่ว่า แม่น้ำโขง (หรือเหล้าชื่อแม่โขง) ก็ถูกสร้างให้เป็นพรมแดนกั้นระหว่างคนสองฝั่งแม่น้ำเพื่อความมั่นคง ตั้งแต่นั้นมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ ก็เข้าสู่ชุมชน ที่เชียงของ จังหวัดเชียงราย ก็เดินตามแผนพัฒนาการเปิดการค้าตลาดชายแดนเป็นช่วงๆ เพราะพื้นที่ติดต่อกัน สามารถข้ามกันไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการค้าขายสินค้ากันได้ แม้จะแตกต่างทางด้านการปกครองก็ตาม และต้องปิดด่านการค้าบ้าง โดยสถานการณ์ของประเทศ ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคเปลี่ยนพรมแดน “จากสนามรบเป็นสนามการค้า” ทำให้พรมแดนแม่น้ำโขง เปลี่ยนไปสำหรับเส้นทางการค้า โดยจะกล่าวถึงป้าย-อนุสาวรีย์ปลาบึก กับรัฐ โดยบทบาทของกรมประมง ซึ่งมีผลกระทบโลกาภิวัตน์ กระแสการท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบัน: การหายไปของปลา โดยจะกล่าวถึงปัญหาป้ายและอนุสาวรีย์ปลาบึก ที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ป้ายและอนุสาวรีย์ปลาบึก กับการ “แต่ง”แก้ไขแหล่งจับปลาบึก

ดูรูปประกอบ ที่นี่ http://www.ezytrip.com/webboard/images/20000/10500/10426_12884.jpg
ป้ายและอนุสาวรีย์ปลาบึก ในเชิงรูปธรรมก็ทำให้คนสามารถสัมผัสจับต้องได้ ซึ่งอยู่ใกล้เขตวัด ที่เป็นพื้นที่ห้ามฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต ถ้าไม่แก้ไขป้ายฯ ก็สะท้อนความซับซ้อนเชิงนิเวศวัฒนธรรม เพราะอยู่ในอาณาบริเวณใกล้วัดหาดไคร้ ที่เป็นศูนย์กลางทางความคิด เชื่อทางพุทธศาสนา ที่มีพญานาคหน้าวิหาร และตำแหน่งของวัด หันสู่แม่น้ำของ(โขง)


หากกล่าวถึงที่มาของปลาบึก[6] ซึ่งมีหลักฐาน สะท้อนให้เห็นความสำคัญของปลาในอดีต ที่มีต่อชีวิตมนุษย์สมัยโบราณ ก็คือ ภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีรูปปลาอยู่ร่วมกับรูปอื่นๆ เช่น วัว ควาย ช้าง เต่า คน และรูปสัญลักษณ์อื่นๆ ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายไว้ในหนังสือ “แอ่งอารยธรรมอีสาน” ว่า รูปปลาขนาดใหญ่ที่ผาแต้ม ไม่ใช่ปลาในห้วยหรือลำธาร หากเป็นในแม่น้ำใหญ่ เช่น ปลาบึก แต่ก็มีข้อสันนิษฐาน ว่าไม่น่าจะใช่ภาพปลาบึก ซึ่งภาพจะใช่ปลาบึก หรือไม่ก็ตาม แต่ภาพก็ช่วยสะท้อนชีวิตมนุษย์ถ้ำ ที่ภาษาของภาพมาก่อนภาษาที่ใช้เขียนเพื่อแสดงความสัมพันธ์กับธรรมชาติ
เมื่อ ปลาบึก อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกทัศน์สมัยใหม่ และอิทธิพลวิทยาศาสตร์โดยอิงเศรษฐกิจ ปลาบึก ที่เป็นปลาเจ้าแห่งแม่น้ำโขง สิทธิพร ณ นครพนม ก็บอกเล่าถึง “ปัญหาการสร้างป้ายและอนุสาวรีย์ปลาบึกว่า ที่นี่เป็นแหล่งจับปลาบึกแห่งแรกของโลก” ในหมู่บ้านหาดไคร้ ตำบลหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ก่อนที่รัฐจะปรับเปลี่ยนป้ายเป็น “แหล่งแพร่พันธุ์ปลาบึกแห่งแรกของโลก”[7](โดยการแต่ง หรือสร้างภาพ) ตามกระแสการอนุรักษ์นี้เอง

กระนั้น ปัญหาการหายไปของปลาบึกในประเทศไทยกับการอนุรักษ์ รวมถึงการแพร่พันธุ์ ปลา ที่มีการเปลี่ยนพิธีกรรมความเชื่อ โดยพิธีบวงสรวงปลาบึก เพื่อการท่องเที่ยว และบอกเล่าว่า การล่าปลาบึกครั้งแรก โดยเริ่มขึ้นประมาณ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๐ และจำนวนที่จับได้ลดลงเรื่อยๆ จนกรมประมงเริ่มผสมเทียมสำเร็จ ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๒๖ จำนวนจับจึงค่อยทวีเพิ่มขึ้นอยู่ราว๔๐-๕๐-๖๐ ตัว มีเรือหาปลาถึง ๖๙ ลำ ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกฎกระทรวง และเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๓ โดยระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงปลาบึกในแม่น้ำโขง ท้องที่ หนองคาย เลย มุกดาหาร อุบลราชธานี และเชียงราย โดยเด็ดขาด” แต่มีข้อยกเว้นว่า “เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยอธิบดีกรมประมงมอบหมาย” แต่กรมประมง มีความต้องการไข่และน้ำเชื้อปลาบึกจากธรรมชาติเพื่อการผสมเทียม และได้ออกระเบียบใหม่ ว่าด้วยการอนุญาตให้ทำการประมงในแม่น้ำโขง พ.ศ.๒๕๓๓ อ้างตามกฎกระทรวง เปิดช่องให้สามารถจับปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน ของทุกปี

กรมประมงอยากเอา “ชื่อปลาบึกออกจากสัตว์สงวน” เพราะการเพาะเลี้ยงปลาบึกของกรมประมง นอกจากในแง่ธรรมชาติวิทยา คือลดปัญหาการสูญพันธุ์ ยังมองในแง่ของการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เพราะปลาบึกมีราคาสูง(ส่งเสริมการบริโภคเนื้อปลาบึก) ใน ปัจจุบันกรมประมงยังคงให้จับปลาบึกในฤดูวางไข่ ส่วนด้านความคิดของพิธีกรรมจับปลาบึกในลุ่มน้ำโขง บ้านหาดไคร้ โดยมีผู้วิเคราะห์ว่าในพิธีกรรมจับปลาบึก เกิดขึ้นจากคติความเชื่อในผีคุ้งน้ำโดยเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าคุ้มครองปลาบึก คติความเชื่อในพิธีกรรมจับปลาบึกเป็นภูมิปัญญา คือ คติความเชื่อที่ผสมผสานกันระหว่างผี พุทธและพราหมณ์ แต่เน้นในเรื่องผี ความเชื่อนี้ นำมาซึ่งความสามัคคี มีพลังต่อสู้กับอุปสรรคในการจับปลาบึก แต่ว่าจากพิธีกรรมถูกทำให้ลดพลังความเข้มแข็งของชุมชน และป้าย-อนุสาวรีย์ปลาบึก ที่สร้างภาพเอาไว้ ก็ไม่มีพลังอะไรเลยแก่ประชาชน หรือชาวบ้าน รวมทั้งชาวประมงลุ่มน้ำโขง เพราะความซับซ้อนของปัญหาโดยรัฐ ได้เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามที่รัฐต้องการให้เป็นไป

วิเคราะห์ป้ายและอนุสาวรีย์ปลาบึก
มันเกิดการสื่อสารความหมายของป้ายและอนุสาวรีย์ปลาบึก ที่ว่าแหล่งแพร่พันธุ์ปลาบึกขึ้นมา โดยกลายเป็นโวหารของภาพและตัวอักษร ที่ไม่ซื่อสัตย์กับความจริงในครั้งแรก ที่ว่าแหล่งจับปลาบึก โดยรูปป้ายฯแสดงภาพลักษณ์จากสื่ออินเตอร์เน็ต สะท้อนสัญญะทางการท่องเที่ยว คือป้าย-อนุสาวรีย์ ที่ท่าแม่น้ำของ(โขง) ทำหน้าที่สื่อสารดังกล่าว โดยนักท่องเที่ยวอาจจะไม่สามารถเข้าใจวิถีชีวิต และความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างสองฝั่งโขงมาก่อน ที่สำคัญจะทราบหรือไม่ว่า ปลาบึกถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐ โดยแต่งเติมสร้างภาพแทนความจริงว่า รัฐชาติไทยเป็นผู้แพร่พันธุ์ปลาบึก (ผู้อนุรักษ์ปลาบึก)มากกว่าประเทศ สปป.ลาว (แม้ว่าลาวก็สั่งห้ามจับปลาบึกนานแล้ว) เพราะฝั่งตรงข้ามสัญลักษณ์ไม่มีบอกว่าที่นี่เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ปลาบึก แต่ว่าป้ายและอนุสาวรีย์ปลาบึกก็อยู่ใกล้เขตวัด อันสะท้อนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางระบบนิเวศวัฒนธรรม[8] โดยขัดแย้งทางความหมายเดิม ที่ว่าให้จับปลาบึกได้โดยเสรีเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งก่อนจะเปลี่ยนแปลง ก็สะท้อนความซับซ้อน อันขัดแย้ง กับเขตวัด ซึ่งงดเว้นไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และในที่สุดป้ายฯ ก็เขียนประวัติศาสตร์ความเป็นไทย บนพื้นที่ชายแดน-ชายขอบของประเทศ โดยทำให้ปลาพันธุ์อื่น ไม่ได้ถูกเน้นเขียนถึงปลาอื่นๆ ถูกทำให้กลายเป็นอื่น ซึ่งบอกเล่าเพียงภาษาไทย กับภาษาอังกฤษ ตรงกันข้ามไม่ปรากฏอักษรล้านนา ด้วยเหตุที่ว่าภาษาอังกฤษสื่อกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ดังนั้น ความซับซ้อน ที่นอกจากภาพของป้าย-อนุสาวรีย์ปลาบึก พิจารณาแล้ว ฉากของแม่น้ำกาหลง หรือแม่น้ำของ(โขง) ในลิลิตพระลอ ที่แต่งให้คนอ่านเข้าใจราวกับเรื่องแต่งถูกกำหนดโดยกฎแห่งกรรม ทำให้เห็นปรากฏการณ์ของความเชื่อต่อแม่น้ำ และเป็นวรรณคดี ที่รัชกาลที่ ๖ ทรงยกย่อง รวมถึง อนุสาวรีย์ย่าเหล ก็เป็นตัวแทนความซื่อสัตย์ ซึ่งต้นกำเนิดของกรมประมง คือ กรมรักษาสัตว์น้ำ แต่ว่าไม่มีความคิดที่จะรักษาปลาบึก หรือปลาพันธุ์อื่นๆ ในช่วงแรกโดยสนับสนุนให้ล่าปลาบึก จะผสมเทียมเพื่อการล่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เปลี่ยนประชาชนไม่มีการต่อรองอำนาจของรัฐ กำลังตามกระแสการพัฒนาต่างๆ โดยเมื่อ ปีพ.ศ.๒๕๔๗ ที่ผู้เขียน ไปเก็บข้อมูลภาคสนาม ไม่ว่าจะเป็นเรือเดินสินค้า ส่งผลกระทบ เช่น น้ำมัน ขยะ ลงแม่น้ำโขง และที่มีเรือท่องเที่ยว กับนักเดินทางท่องเที่ยว เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้มีผลต่อการจับปลาบึก(กับมูลค่าของปลาบึกที่สูงขึ้น จนชาวประมงต้องการจับให้ได้) รวมถึงเพื่อการท่องเที่ยว และผลกระทบของการสร้างเขื่อนในจีน-สปป.ลาว ปัญหาระเบิดเกาะแก่งหินแม่น้ำของ(โขง) โดยจีน แต่ว่ารัฐพยายามสร้างภาพการอนุรักษ์ปลา จัดสร้างพิพิธภัณฑ์อีกด้วย
กระแสการท่องเที่ยว และท่าทีก่อนจับปลาบึกได้

ข้อมูลภาคสนาม ท่าทีก่อนจับปลาบึกได้
พิธีกรรมบวงสรวงปลาบึกของชาวบ้าน กลายเป็นศิลปะการแสดงโดยรัฐ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดพิธีกรรมบวงสรวงปลาบึกขึ้นนั้น เพื่อการท่องเที่ยว เพราะในอดีตไม่ได้จัดพิธีกรรมที่บริเวณนี้ ก็ตั้งแต่มีกระแสการท่องเที่ยวเข้ามาที่นี่ โดยทางการราชการเข้ามาสนับสนุน และถึงขั้นจัดงานใหญ่โตมาก ครั้นรวมถึงเมื่อเจ้าชายจากญี่ปุ่นเสด็จ ที่บ้านหาดไคร้นี้ด้วย แต่ว่าผู้เขียนได้มีส่วนร่วมสังเกตการณ์ ในวันที่๑๘ เม.ย. ๒๕๔๗ ภายหลังจากจัดกิจกรรมพิธีต้อนรับอันยิ่งใหญ่ โดยเปิดงานพิธีกรรมบวงสรวง ที่เกณฑ์ชาวบ้านมาต้อนรับ พร้อมเรือใหญ่อลังการกลางแม่น้ำโขง และจัดพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ปลาบึก(หลายวันต่อมา มีข่าวว่าปลาตายหลายตัว) นอกจากนั้น ก็มีการทำพิธีการปล่อยปลาเสร็จเรียบร้อย โดยผู้ว่าราชการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ไม่ได้เข้าร่วมฟังเสวนาปัญหาปลาบึก และการจับปลาโดนผลกระทบด้านต่างๆ ที่มีการจัดเวทีเสวนา “ง่อมหาปลาบึก” ในกิจกรรมภาคบ่าย โดยกลุ่มรักษ์เชียงของ[9](ภาพของชาวประมง บางคนต่อต้านเอ็นจีโอ) โดยผู้เขียน ร่วมนั่งฟังเสวนาระหว่างเก็บข้อมูลภาคสนาม

ด้านกลุ่มอนุรักษ์ปลาบึกบอกว่า หน่วยราชการไม่สนับสนุนตั้งศูนย์อนุรักษ์ปลาบึก ให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องปลาบึก ในสถานการณ์ ที่ว่าจับปลาบึกไม่ได้ หรือจับปลาอื่นๆ ไม่ค่อยได้ ก็มีอาชีพเสริมของชาวบ้านขายของที่ระลึก ซึ่งถือว่าการจับปลาบึก ก็เป็นอาชีพเสริม เช่นเดียวกัน โดยทำการจับปลาอื่นๆ นอกเหนือจากทำไร่ ทำนา ดังนั้น กล่าวโดยสรุปแล้วว่า ปลาบึก จะมาที่หาดไคร้ ก็ช่วงฤดูร้อน ช่วงต้นเดือนเมษายน โดยการจับปลาบึกได้ ลดลงตั้งแต่ ปีพ.ศ.๒๕๓๙ และทางกลุ่มเล่าว่า มีการอนุรักษ์และผสมเทียม เกี่ยวกับปลาบึกในแม่น้ำโขง กับกรมประมงแล้ว แต่ว่าปีพ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๖ นั้น จับปลาบึกไม่ได้มา ๓ ปีแล้ว ทั้งที่เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน จับได้มากถึงปีละ ๖๖ ตัว ท้ายที่สุดก็มีความคิดเห็นร่วมกันว่า เมื่อก่อนแม่น้ำของ(โขง)ใสสะอาดมากกว่านี้ ส่วนจะจับปลาบึกได้ อีกหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบล่วงหน้าเลย

เมื่อจับปลาบึกได้ มีข้อมูลจากสื่อหนังสือพิมพ์ โดยรายงาน ดังนี้
เมื่อ วันที่ ๒๙ เม.ย.๒๕๔๗ ตัวแทนของรัฐ โดยนายนรินทร์ พานิชกิจ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย,นายบัวสอน ประชามอญ ส.ส.เชียงรายเขต ๘ พรรคไทยรักไทย,นายนิพนธ์ แจ้งจันทร์ นายอำเภอเชียงของ,นายทวีศักดิ์ ชาญประเสริฐพร ประมงจังหวัดเชียงราย ,นายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และ นายบุญเรียน จินะราช แกนนำพรานปลาบึก ได้แถลงข่าวที่ บริเวณ พิพิธภัณฑ์ปลาบึก ริมฝั่งแม่น้ำโขง บ้านหาดไคร้ ม.๗ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยนายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขุ่น เพราะมีทรายมาก ทำให้มีโอกาสจับปลาบึกได้ และเมื่อเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.วันที่ ๓๐ เม.ย.๒๕๔๗ พรานปลาบึก ๒กลุ่ม นำโดย นายสมนึก สุวรรณทา อายุ ๓๙ ปี กับนายพิทักษ์ แสงเพชร กับพวก ๑๐ คน ได้ออกล่าปลาบึกตามประเพณีของชาวหาดไคร้ ในแม่น้ำโขง โดยใช้อวนหรือมอง(เครื่องมือจับปลา)ของชาวบ้าน ลากไป-มา และใช้เรือหางยาวเป็นพาหนะหลายลำ ต่อมาพบว่ามีปลาขนาดใหญ่มาชนมอง(เครื่องมือจับปลา) จึงจับปลาบึกได้ ๒ ตัว ซึ่งทุกฝ่ายกำลังดีใจ เพราะจับปลาบึกไม่ได้มานานแล้ว
ด้านนายนรินทร์ พานิชกิจ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า ขอประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมปลาบึกและแม่น้ำโขง เชื่อว่าจะให้การท่องเที่ยวคึกคัก และตนขอยืนยันว่า การอนุรักษ์พันธุ์ปลาและแม่น้ำโขง จะมีต่อไป พร้อมกับการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะไม่กระทบต่อแม่น้ำโขงและปลาบึก ซึ่งตนจะดูแลให้ดีที่สุด และปีนี้ถือว่าโชคดีหลังจากมีการ บูชาพญานาคตามความเชื่อที่อำเภอเชียงแสน ช่วงสงกรานต์ และมีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึกเมื่อวันที่ ๑๘ เม.ย. ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา แล้วมีการจับปลาบึกได้หลังจับไม่ได้มาติดต่อกัน ๓ ปี

ด้านตัวแทนกรมประมง โดย นายทวีศักดิ์ ชาญประเสริฐพร ประมงจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปลาบึกที่จับได้ น่าจะเป็นปลาที่เกิดในแม่น้ำโขงตามธรรม ชาติ เพราะมีขนาดใหญ่ อายุน่าจะราว ๓๐ ปี ถือว่าอยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ และอาจจะพยายามว่ายขึ้นทางทิศเหนือเพื่อผสมพันธุ์ เพราะก่อนหน้านี้มีฝนตกหนักราว 3 วันก่อน ปลาอาจได้กลิ่นน้ำใหม่ จึงกระตุ้นการผสมพันธุ์ ดังนั้น ประมงจังหวัด จะเข้ามารีดเอาน้ำเชื้อ และนำไปหาทางผสมพันธุ์ เพื่อเพาะหรือขยายพันธุปลาบึกให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนตัวปลาบึกนั้น มอบให้เจ้าของปลาไปดำเนินการ ซึ่งอาจจะมีพ่อค้ามารับซื้อต่อไป ทั้งนี้อยากจะให้ทุกฝ่ายช่วยกันรักษาสภาพในแม่น้ำโขง ให้มีความสะอาดจึงไม่ควรปล่อยคราบน้ำมันหรือของเสียจากเรือเร็วและเรือสินค้าลงในน้ำโขงและสภาพแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของยังมีความสมบูรณ์และเชื่อว่า ในแม่น้ำโขงยังมีปลาบึกอยู่อีกมาก

ดูภาพประกอบที่นี่ http://hilight.kapook.com/view/26626/2
การปักป้ายประท้วง กลางดอนฝั่งไทย-ลาว และตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน (รวมถึงตัวผู้เขียนด้วยความจำเป็น)
แล้วทั้งกลุ่มรักษ์เชียงของบุกขึ้นประท้วงบนเรือจีน ที่มาปักหมุดสำหรับเดินเรือสินค้า

ข่าวดีที่มีการจับปลาบึกตามธรรมชาติได้ หลังจากไม่เคยจับได้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔-๒๕๔๖ โดยรัฐ กับการแต่ง หรือสร้างภาพปลาบึก เป็นภาพแสดงแทนว่า จับปลาบึกได้ ก็ไม่มีผลกระทบกับปลาต่างๆทั้งหมดในแม่น้ำโขงจากโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐ โดยเปิดแถลงข่าวการจับปลาบึก ร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งสรุปแล้ว ทัศนะดังกล่าว เน้น แต่ปลาบึกเป็นภาพตัวแทนของธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้เน้นปลาอื่นๆ และสะท้อนภาพของความขัดแย้งของการอนุรักษ์ธรรมชาติ กับกระแสการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ ที่ไม่เอ่ยถึงผลกระทบของการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำของ(โขง) และเขื่อน ที่ประเทศจีน เพราะเกี่ยวพันกับปัญหาการค้า เส้นทางเดินเรือ ในแผนพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ-อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ตัวแทนของรัฐ สร้างภาพพิพิธภัณฑ์ปลาบึก โดยลืมเรื่องการหายไปของปลาพันธุ์อื่น
พิพิธภัณฑ์ กลายเป็นเครื่องมือของอุดมการณ์ในการสร้างภาพอนุรักษ์ โดยกลายสภาพราวกับเครื่องจักรกลพิมพ์ภาพ ที่เต็มไปด้วยการบิดเบือนปรุงแต่งเรื่องราว สร้างภาพของรัฐ จากที่กล่าวถึงป้ายกับ อนุสาวรีย์ปลาบึก ก็สร้างภาพของรัฐไทย ในการสร้างจินตนาการเส้นเขตแดนของชาติไทย และพิพิธภัณฑ์ปลาบึก ก็ถูกจำลองให้เห็นภาพสำหรับท่องเที่ยวชั่วคราว มากกว่าการอนุรักษ์จริงๆ เพราะทางด้านนายบัวสอน ประชามอญ ส.ส.เชียงรายเขต ๘ พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ตนมีแนวทางร่วมกับทางจังหวัดในการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวใน อ.เชียงของ โดยจะมีการผลักดันจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ปลาบึก ซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้ด้านการจับปลาและมีตู้ปลาเลี้ยงปลา ซึ่งจะมีการสร้างเพิ่มเติมจากที่ได้ทำไประยะแรก ด้วยงบราว ๑๐๐ ล้านบาทเศษ คาดว่าจะทำให้อาชีพชาวประมงของชาวบ้านไม่สูญหายไปจากความทรงจำ และในอนาคตจะมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และสะพานข้ามโขง ไทย-ลาว ซึ่งได้งบจาก เอดีบี(ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย) มาแล้ว ก็เพื่อให้ อ.เชียงของ มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมาก สามารถข้ามฝั่งไป แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว หรือเดินทางเมืองหลวงพระบางของ สปป.ลาว

เมื่อมีการจับปลาบึกได้มีการช่วงชิงการนำในการให้ข้อมูลหรือการรับรู้เกี่ยวกับปลาบึกโดยผู้ว่าราชการจังหวัดพยายามมาแถลงข่าวว่าการจับปลาบึกได้ ก็แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวกับสร้างเขื่อนและการค้าเสรีกับจีน (หลังจากแถลงข่าวแล้ว ปีนี้จับปลาบึกได้ทั้งหมดถึง ๗ ตัว) ชาวบ้าน ดีใจกับการกลับมาของปลาบึก แต่ปัญหาดังกล่าวที่ตามว่าด้วยการพัฒนาที่มีการนิยามโดยรัฐคือรัฐได้พยายามสร้างเรื่องว่าเขื่อน และการระเบิดเกาะแก่งหินเพื่อการเดินเรือสินค้า ไม่มีปัญหาต่อการจับปลาต่างๆ และวิถีชีวิตของชาวบ้าน-ชาวประมง แต่ว่าการอธิบายเชิงตัวเลข ไม่สามารถบอกได้อย่างง่ายดาย เช่นว่า การกลับมาของปลาบึก จะกลายเป็นภาพแสดงแทนปลาทั้งหมดว่า “ไม่มีผลกระทบจากระบบนิเวศ” แต่ว่าชาวประมง เชื่อว่าธรรมชาติไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำนายทายทักได้ว่า จะเป็นเช่นไร เพราะสิ่งต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ปลา อากาศ ตลาด รัฐบาล ล้วนต่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไปหมด ไม่ใช่สิ่งหนึ่งเป็นเพียงเหตุของอีกสิ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็สะท้อนภาพประดุจคติไตรภูมิ และลิลิตพระลอ-แม่น้ำกาหลง ส่วนสมุดภาพไตรภูมิ กรุงศรีอยุธยา หมายเลขที่ ๖ มีภาพแม่น้ำของ(โขง) กับปลา ในนิเวศวัฒนธรรม ที่เอื้อต่อการตรึกตรองว่าจะร่วมมือสร้างนิยามการพัฒนา และอนุรักษ์ต่อทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน โดยวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อปลาพันธุ์อื่นๆด้วย

สรุป
การสร้างสรรค์ของมนุษย์ ในรูปแบบสิ่งต่างๆหลายอย่างขึ้นมา ย่อมสะท้อนแง่คิด จินตนาการ ประสบการณ์ในวิถีชีวิต ดังที่กล่าวเรื่อง “วรรณคดีลิลิตพระลอ” รัชกาลที่ ๖ทรงยกย่อง หากพิจารณาในแง่ของการแต่ง และเรื่องมีคุณค่าทางความเชื่อ ศาสนา อันเกี่ยวคติไตรภูมิ ในสมุดภาพไตรภูมิ กรุงศรีอยุธยา หมายเลขที่ ๖ ที่แสดงออกว่าการวาดภาพโดยมนุษย์ ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของอำนาจ เพราะต่างเกี่ยวพันเป็นห่วงโซ่ของชีวิต ตามคติจักรวาล คือระบบนิเวศวัฒนธรรม และการพัฒนาบนพื้นฐาน กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ตะวันตก สร้างแผนที่แบ่งเขตแดน กั้นคนลุ่มน้ำของ(โขง) กับความคิดวิทยาศาสตร์ ที่คิดอยู่เหนือธรรมชาติ และครอบครองการเพาะพันธุ์ปลาบึกที่มาให้ชาวประมงล่าจับปลาบึก เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งผลสำเร็จของการเพาะพันธุ์ปลาบึกทางวิทยาศาสตร์อาจจะไม่เหมาะกับทางธรรมชาติ ที่กำลังส่งผลอยู่ในปัจจุบัน อนึ่ง โลกที่ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องการคาดเดาได้ง่ายๆ มันก็เหมือนกับการที่รัฐพยายามสร้างคำอธิบายที่ควบคุมนิยามการพัฒนาให้อยู่ในอุ้งมือของรัฐ ทั้งที่ไม่มีความพยายามหาทางป้องกัน และแก้ไข แต่กลับด่วนสรุปง่ายๆเพื่อเอื้อแก่การพัฒนาในกระแสโลกาภิวัตน์แล้ว แนวคิดแห่งการคงอยู่ร่วมกันนิเวศวัฒนธรรม จึงจะต้องร่วมฟื้นสร้างสำนึกฐานจากความเชื่อเรื่องผี นาค รวมทั้งทางพุทธศาสนา ในแบบสมุดภาพไตรภูมิฯ ที่ปรากฏภาพปลา และแม่น้ำของ(โขง)

ฉะนั้น ทางเลือกของวิธีการหนึ่งในจำนวนหลากหลาย ประชาชน ร่วมมือกับ กลุ่มรักษ์เชียงของ และองค์กรต่างๆ หน่วยงานของรัฐ อาทิเช่นกรมประมง ที่ว่าจุดประสงค์เกิดขึ้นมาเพื่อรักษาสัตว์น้ำ ไม่ใช่แต่งเติมเสริมเอาเองไม่เช่นนั้น จะผิดต่อรัชกาลที่ ๖ และไม่เหมือนกับอนุสาวรีย์ย่าเหล ที่แสดงความซื่อสัตย์ออกมา แต่ว่า ป้าย-อนุสาวรีย์ปลาบึก สะท้อนว่าไม่ได้แสดงออกเช่นนั้นเลย หรือจะปล่อยให้เกิดฉากเลือดย้อม เพราะความขัดแย้งเหลือแค่สถูป อันเป็นอนุสาวรีย์ในลิลิตพระลอ ในที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ผ่านมาชาวประมง ประกาศเลิกจับปลาบึก ถวายแด่องค์ราชันย์ เฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ ๘๐ พระชนมพรรษา แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงยังมีเสมอ เพราะฉะนั้น ชุมชนก่อนจะถูกช่วงชิงจินตนาการน่าจะแต่งเรื่องนิทานของชุมชนเล่าขานวิถีชีวิต หรือสร้างความสำคัญกับ“ปลาอื่นๆ” นอกจากปลาบึกในแม่น้ำของ (โขง) รวมถึงสร้างความร่วมมือกัน จัดการความขัดแย้งภายในชุมชน ชาวประมง กลุ่มราชการ กลุ่มรักษ์เชียงของ ก่อนที่จะกลายเป็นตำนานปลาหายไป โดยไร้พลังของตำนาน.
[1]นิยะดา เหล่าสุนทร.เทพยกวีที่ถูกลืม. กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ,2538: 17-18
[2] Thongchai Winichakul, Siam Mapped : a History of the geo-body of a Nation. Chiang Mai: Silkworm Books, 1994. :129
[3]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. การศึกษาพรมแดนความรู้ทางประวัติศาสตร์ ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.:127
[4] พนิดา สงวนเสรีวานิช, “วังปลาในพระราชินีศรีสยาม.” ศิลปวัฒนธรรม 16, 10 (สิงหาคม 2538) ::42-43
[5] เกษียร เตชะพีระ “แฮปปี้แลนด์ของซ้ายไทย วิวาทะอุตตรกุรุ:อัศวพาหุ VS ศรีอินทรายุทธ ”,ศิลปวัฒนธรรม 14, 9 (กรกฎาคม 2536) : 188-190
[6] ชื่อภาษาอังกฤษว่า Giant catfish และภาษาวิทยาศาสตร์ว่า Pangasianodon gigas
[7] สิทธิพร ณ นครพนม และ สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์. “ปลาบึกเจ้าแห่งแม่น้ำโขง.” ศิลปวัฒนธรรม
16, 10 (สิงหาคม 2538) : 55-59.

[8]อรรคพล สาตุ้ม การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ :คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมระบบนิเวศของวัดในชุมชนชายแดนสองฝั่งโขง ในวารสารชุดภูมิภาคศึกษา สำหรับรวมบทคัดย่อและข้อเขียน อาจารย์ นักศึกษาปริญญาโท ภูมิภาคศึกษา ปีที่1 ฉบับที่1 ,2549: 90-103
[9] เรียกกลุ่มนี้สั้นๆว่า กลุ่มรักษ์เชียงของ ฯโดยทางกลุ่มจัดกิจกรรม รณรงค์ในหลายด้าน รณรงค์สิ่งแวดล้อม หนังสั้น เล่านิทาน ฯลฯ รวมทั้งงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งหัวหน้ากลุ่มตัวแทน นาย นิวัตน์ ร้อยแก้ว คือ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์คนหนึ่งของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสร่วมนั่งเรือร่วมหาปลากับคนจับปลา เพื่อหาข้อมูลเชิงมานุษยวิทยาอย่างเป็นกลางที่สุดเท่าที่เป็นได้

หมายเหตุ: บทความนี้ นำเสนอในงาน ประชุมวิชาการ ศิลปะและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง : เอกภาพ และความหลากหลาย จัดโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2550....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น