วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

ปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม:ปราสาทเขาพระวิหาร-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม:ปราสาทเขาพระวิหาร-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

อรรคพล สาตุ้ม

บทนำ
ความเป็นมาของประเด็นเขาพระวิหารในปัจจุบัน และปรัชญาประศาสตร์ศิลปะ ในการเสวนาเรื่องเกี่ยวกับประเด็นเขาพระวิหาร ทั้งทางในรัฐสภา และทางวิชาการ มีบทความปรากฏแล้ว จำนวนหนึ่ง เช่น จักรวาลวิทยา,แผนที่ เป็นต้น ดังประเด็นต่อไปนี้ว่าชาตินิยม ประวัติศาสตร์ และการเมือง เพราะว่าปราสาทเขาพระวิหารถูกทิ้งร้างไป(ทั้งจากไทยและกัมพูชา)ประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งเมื่อฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมในดินแดนแถบนี้ มายึดเวียดนาม, ลาว, กัมพูชา ซึ่งรวมไปถึง จันทบุรี, ตราด และด่านซ้าย ดังนี้แล้ว เมื่อ รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปใน พ.ศ.2450 (ค.ศ.1907) จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยน เสียมเรียบ, พระตะบอง, ศรีโสภณ กับ จันทบุรี, ตราด และด่านซ้าย ดังนี้แล้ว ตามความตกลงของรัชกาลที่ 5 เขาพระวิหารจึงได้ถูกขีดเส้นให้เป็นของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา[1]

โดยผมเห็นด้วยในทางวิชาการ และมองว่าน่าจะมีการนำเสนอประเด็นเพิ่มเติม เช่น โบราณสถาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยบทความของผม จะกล่าวถึงความแตกต่างของปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะที่มีรากฐานของปรัชญาทางพุทธศาสนา ย่อมมีความแตกต่างกับปรัชญาของพราหมณ์-ฮินดู ในความสำคัญของการเวียนว่ายตายเกิดทางพุทธศาสนา อันเป็นหัวใจคติทางสิ่งแวดล้อมของพุทธ และแนวคิดของพิริยะ ไกรฤกษ์ กับหนังสืออารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม ๑ ศิลปะก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 กล่าวว่าปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะ คือ การอธิบายตามปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะของรัชกาลที่ 6 ก็เผยแพร่ให้คนทั้งหลายรู้เห็นความรุ่งเรืองของสยาม และเพื่อช่วยกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยม

อนึ่ง หนังสือพรมแดนแห่งความรู้ : รวมบทความของศิษยานุศิษย์ของพระยาอนุมานราชธนโดยกรอบของการเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะของผู้เขียนคนเดียวกัน คือ พิริยะไกรฤกษ์ ก็ปรากฏว่า วิเคราะห์ประวัติการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ตั้งแต่ รัชกาลที่ 4-2527 และกล่าวว่าช่วง 2483-2492(กระแสชาตินิยมเช่นกัน) มีความนิยมอารยธรรมตะวันตกนั้น มากกกว่าค้นคว้าเรื่องในอดีต เป็นต้น ซึ่งในสมัยช่วงศึกอินโดจีนนั้น หลวงวิจิตรวาทการ ก็สร้างเหรียญพระธาตุพนมช่วยไทย และมีพระพุทธชินราชสมัยสงครามอินโดจีน
หลวงวิจิตรวาทการ ก็นิยมวัฒนธรรมสุโขทัยด้วย ดังนั้น บทความนี้ ผมจะวิเคราะห์ที่มาของปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม และโบราณคดี เพิ่มเติม จากที่มีการมองผ่านเรื่องอำนาจของการเมือง แผนที่ และความรู้ทางประวัติศาสตร์ อันเป็นพื้นฐานของข้อมูลประเด็นเขาพระวิหาร(ซึ่งชื่อ ก็บอกว่าอยู่บนภูเขา) ที่เสนอกันไปหลายแง่มุมแล้ว และผมมองผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิโดยผ่านกรอบคิดทางศิลปะ และสิ่งแวดล้อม นั่นเอง

ย้อนดูกำเนิดปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยมและโบราณคดี
ผมขอกล่าวโดยย่อเพื่อให้เข้าใจ “ประวัติก่อนกำเนิดปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม ถึงโบราณคดี” ว่า อิทธิพลของอำนาจการอธิบายทางปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะขึ้นอยู่กับพรมแดนของความรู้ ที่เกิดการรับรู้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ดังนั้น เราจะมองย้อนกลับเพื่อพิจารณาโครงเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยมนั้น โดยผมได้เคยนำเสนอเรื่องคติจักรวาลไตรภูมิไว้ในประชาไท แล้ว จะกล่าวซ้ำเพียงเล็กน้อยว่า
สมุดภาพไตรภูมิ กรุงศรีอยุธยา หมายเลขที่ ๖ (ที่มา: สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-กรงุธนบุรี เล่ม ๑-๒ ) มีภาพ “แผนที่มีภาพแม่น้ำของ (น้ำของ เรียกตามคนเชียงของ) ซึ่งข้อสังเกตภาพในสมุดภาพไตรภูมิกรุง ศรีอยุธยา หมายเลข ๘ และสมุดภาพไตรภูมิ กรุงธนบุรี หมายเลข ๑๐ ก. ไม่มีแม่น้ำของปรากฏ(ทั้งที่อิทธิพลจากวรรณกรรมไตรภูมิพระร่วง) และส่วนสมุดภาพฯ หมายเลข ๘,๑๐ ก. (ปลาได้หายไป) น้ำแม่ของหรือแม่น้ำโขง และปลา ที่ผูกพันกับระบบนิเวศ แสดงถึงแม่น้ำไหลออกมาจากป่าหิมพานต์ ในชมพูทวีปตามคติจักรวาลแบบไตรภูมิ และแสดงเมืองเชียงราย เชียงแสน ต่างๆในประเทศไทยกับเพื่อนบ้าน ที่มีพระธาตุสำคัญต่างๆ ดังนั้น จึงมีจินตนาการและความเป็นจริงปรากฏอยู่ ดังทีมีการเป็นเมืองของชุมชน คือแสดงความคิดเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ สะท้อนสังคมวิทยาความเป็นเมืองกับระบบนิเวศ ก็บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ล้านนากับอยุธยา[2]

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและประวัติศาสตร์หลัง กรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์
เมื่อเกิดการฟื้นอาณาจักรล้านนาขึ้นมาใหม่ หลังการถูกปกครองโดยพม่า ซึ่งจากการช่วยเหลือของพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อสู้รบกับพม่าแล้ว โดยขอกล่าวอย่างรวบรัดจากกรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยยุคต้นรัตนโกสินทร์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ปรับปรุงความคิด และคัมภีร์ศาสนา ถึงพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิโลกวินิจฉัย เป็นต้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และทางด้านความสัมพันธ์เศรษฐกิจในอดีตของชุมชนเชียงของ ขึ้นอยู่กับอาณาจักรล้านนา ก็สัมพันธ์กับเส้นทางการค้า เป็นเหมือนเขตเศรษฐกิจชาวบ้าน เส้นทางการค้า ทั้งสามสายจากการค้าในระบบการคมนาคมทางบกจากตาลีและคุนหมิงนี้ มีความสำคัญมากสำหรับการยังชีพของชุมชนต่างๆ เพราะว่าอยู่ในเขตภูดอยห่างไกลเมืองเช่นนี้ ซึ่งต่อมามีการคิดพัฒนาเส้นทางการค้า โดยเป็นช่วงที่สมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้นำนิพนธ์ทั้งในหมวดร้อยแก้ว และร้อยกรอง จารึกลงในแผ่นศิลาที่วัดเชตุพนฯ เพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษาแก่คน โดยกลโคลงอาจจะอาศัยเค้าความคิดกลโคลงในประชุมจารึกวัดเชตุพนฯ

แน่นอนว่า แนวทางวรรณกรรม กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ “กลโคลง” คือ การเชื่อมวรรณคดี กับจิตรกรรม โดยเป็นภาพวาดผสมกลโคลง ก็เกิดขึ้นช่วงสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือรัชกาลที่ 2[3] นั่นเอง ซึ่งพอถึงในรัชกาลที่ 3 ก็มีความเจริญทางศิลปกรรมเปล่งปลั่งรุ่งเรือง เกิดผลงานคลาสิค ก่อนเป็นศิลปกรรมขนบสัจนิยม โดยรับอิทธิพลทางยุโรป และเริ่มมีปัญหาจากจักรวรรดินิยมยุโรป เป็นต้นมา
โดยความคิดชุดใหม่แบบตะวันตกเข้ามา แม้แต่ในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืด เริ่มได้รับความสนใจ ประมาณพ.ศ. 2395 เป็นผลมาจากการยกเลิกการเก็บอากรค่าน้ำในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ราษฎร์ต่างแย่งกันจับปลา จนมีเรื่องทะเลาะกันอยู่เป็นประจำ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าให้รื้อฟื้นการจัดเก็บอากรค่าน้ำขึ้นใน พ.ศ. 2394 โดยหวังผลประโยชน์ คือ การเก็บภาษีอากร และให้พอมีสัตว์น้ำเป็นอาหารสำหรับประชาชน และให้มีสัตว์น้ำเป็นสินค้าแก่ประเทศ แต่ว่าปัญหาของการเข้ามายึดครองพื้นที่อาณาเขตของตะวันตก คือ การล่าอาณานิคมเพื่อการค้า โดยสัมพันธ์กับแม่น้ำของ(โขง) และการเข้ามาของฝรั่งเศสยังได้บุกรุกเข้าครอบครองต่อทรัพยากรในแม่น้ำของ(โขง) โดยเกิดการแปลแม่น้ำของ เป็นแม่น้ำโขงด้วย กับการเพื่อให้ได้เป็นอาณานิคมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการใช้แม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติสำหรับอาณานิคมของตน

ผลดังกล่าวทำให้ก่อเกิดแนวคิดสร้างรัฐชาติ มีพรมแดนเป็นการผนวกกลืนอาณาจักรเพื่อสร้างความมั่นคงเข้ามาในรัฐ ตามอิทธิพลภูมิศาสตร์ของวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก ทำให้ต้องมีการสร้างนิยามรัฐชาติ มีผลทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาษี การศึกษา และวัฒนธรรม ในรัชกาลที่ 4 ก็ได้นำเหตุผล และเทคโนโลยีใช้ผลิตแผนที่ ทั้งที่ยุคก่อนไม่จริงจังเรื่องพรมแดน แต่โดนแรงบีบจากการขู่ทำสงครามจากตะวันตก เพราะว่าสยามไม่ทันสมัย จึงต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดภูมิศาสตร์

ดังนั้น การรับรู้ธรรมชาติแบบใหม่เพิ่งเกิดรัชกาลที่ 4 กลายเป็นรากฐานความรู้ ความจริง เชิงประจักษ์ทางกายภาพ ก่อนหน้านี้ สยามรับรู้และให้ความหมายแก่ภูมิศาสตร์ด้วยชุดความรู้ทางพื้นที่แบบไตรภูมิ แต่ว่าเหตุภัยจากการล่าอาณานิคม ก็นำไปสู่ อาณาเขตว่าด้วยภายใต้จุดหนึ่งในพลังแผนที่ กับการต่อรองระหว่างสยามและฝรั่งเศสเพื่อเข้าถึงภูมิภาคลาวในแม่น้ำโขงตอนบน ก็เกิดการหายไปของอาณาเขตสยาม ซึ่งสิ่งนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริงของสยาม แต่พลังของตัวตนภูมิศาสตร์ของสยามและการรวมอาณาเขตสิ่งที่หายไปกลับปรากฏเข้ามาในแผนที่ เพราะเพื่อการช่วงชิงสร้างแผนที่ในสังคมสมัยใหม่[4] โดยการเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตกในดินแดนล้านนา ส่งผลทำให้ล้านนา ที่มีความสัมพันธ์กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ที่ครอบครองดินแดนพม่ามากขึ้น เนื่องจากการปกครองเมืองประเทศราชของสยาม มีนโยบายให้อิสระในการปกครองตนเองอย่างมากทำให้ล้านนาผูกพันกับการค้าขายต่อชาวอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษโดยผ่านเมืองมอญของพม่า ดังนั้น แผนที่ช่วยเป็นอำนาจของการสร้างเขตแดนที่ชัดเจน

ดังกล่าวว่า สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคปฏิรูปที่ดิน[5] สยามถูกดึงเข้ากระแสพัฒนาแนวตะวันตกอย่างไม่อาจหลีกได้ เมื่อพิจารณาในเชิงการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมแล้ว มีการจัดการทรัพยากรใหม่ตามระบบตะวันตก จากนั้นผลของการพัฒนาโดยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตก และแผนที่ อื่นๆ รวมถึงการแก้ไขความวุ่นวายในการปฎิรูปการปกครองล้านนา ทำให้มีผลต่อการแบ่งพื้นที่เขตแดน และด้านต่างๆก็ให้รับการศึกษาเรียนภาษาไทยภาคกลางที่กลืนล้านนา ทางด้านศาสนาพุทธ และเรียกชื่อแม่น้ำโขง เป็นต้น แน่นอนว่า มีการยอมรับอำนาจของแผนที่เสียเขาพระวิหาร ดังที่มีการกล่าวถึงโดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ เมื่อพิจารณาในเชิงการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมแล้ว มีการจัดการทรัพยากรใหม่ตามระบบตะวันตก ผลกระทบจากการเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส ในกรณีเสียดินแดนฝั่งซ้ายและฝั่งขวาแม่น้ำโขง เขตเมืองน่าน

ผลสืบเนื่องจากบทบาทการค้าของคนจีน ที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการค้า มีผลกับที่เชียงใหม่ อันเป็นศูนย์กลางของล้านนา แต่ว่าก็มีความขัดแย้งทางภาคเหนือ กบฏพญาผาบ เป็นต้น ที่จะจัดการนายภาษีอากรชาวจีน และ กบฏเงี้ยว กบฏพระศรีอาริย์ ต่างๆ ซึ่งเกิดภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สะท้อนความขัดแย้งหัวเมืองลาว (หรือประเทศราช) และยังมีหัวเมืองมลายู อื่นๆ ซึ่งผลของรูปแบบจีน ที่เป็นมรดกตกทอด สืบต่อมาของศิลปะจีน ก็ปรากฏอยู่ในสวนดุสิต[6] เป็นต้น นอกจากนี้ นัยยะทางการเมือง ที่มีในระยะเปลี่ยนผ่านไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาสที่สำคัญนี้ จึงมีผลต่อบทบาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงปกป้องอาณาเขตของสยาม และจะต่อต้านคนจีนภายหลัง ดังปรากฏหนังสือยิวแห่งบุรพทิศ เป็นต้น
เมื่ออิทธิพลของอำนาจการอธิบายทางปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะขึ้นอยู่กับพรมแดนของความรู้ ที่เกิดการรับรู้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เช่น ผลงานเที่ยวเมืองพระร่วง เป็นกำเนิดโบราณคดีสยาม ดังกล่าวคือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” จัดได้ว่าเป็นงานศึกษาโบราณคดีเล่มแรกของประเทศไทย แต่ว่า ปัญหาของการกำหนดอายุ ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และรูปแบบศิลปะที่อาจจะ มีการลักหลั่น สับเวลา สลับที่ทางกัน และอาจจะไม่ใช่ "สุโขทัย" ในความรู้สึกรับรู้ของเราในปัจจุบัน เช่น การศึกษาของพิริยะ ไกรฤกษ์ เสนอว่า ศิลปะสุโขทัยและอยุธยา ภาพลักษณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง เป็นต้น แต่ว่า งานศึกษาค้นคว้าในยุคต่อ ๆ มา ทั้งของเสด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยอร์ช เซเดส์ และผู้อาวุโสอีกมากมายในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา ต่างก็ยังใช้งานพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงเป็น "โครงร่าง" สำคัญ ในการศึกษา สรุปและวินิจฉัยยุคสมัย อายุและศิลปะของสุโขทัยและศิลปะที่คล้ายคลึงกันตลอดมา[7]

กำเนิดปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม
ความเป็นมาของอิทธิพลทางศิลปะในรัชกาลที่ 5 เพื่อแสดงออกถึงความศิวิไลซ์ของชาติ โดยสืบต่อภาพลักษณ์มาในยุครัชกาลที่ 6 จากโลกทัศน์เกี่ยวกับศิลปะในช่วงเวลานั้น โบราณคดีสยามถูกจัดให้เป็นระบบมากขึ้นจากทั้งชาวต่างชาติ และชาวไทย เช่น รัชกาลที่ 6, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และยอร์ช เซเดส์ เพราะตั้งแต่หลังยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ดูเสมือนว่าจะมีการหันมาเน้นศาสตร์ในด้านนี้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือแสดงความมีอารยธรรมสูงของไทย เพื่อต่อสู้กับการดูถูกของชาวยุโรป เป็นเครื่องแสดงออกความเป็นไทยที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติยุโรป ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นโบราณคดีชาตินิยม และปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม[8]

โดยในยุคนี้เองได้เกิดทฤษฎีประวัติศาสตร์สามกรุง คือ ประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมดเริ่มต้นที่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ในเวลาต่อมา และในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดกรมศิลปากร ก็เริ่มมีบทบาทในการส่งเสริมศิลปะแบบราชการ โดยมีการรับอิทธิพลสืบมาถึงหลวงวิจิตรวาทการ[9]
การอธิบายตามปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะของรัชกาลที่ 6 ก็เผยแพร่ให้คนทั้งหลายรู้เห็นความรุ่งเรืองของสยาม และเพื่อช่วยกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยม ซึ่งพระองค์ได้ทรงถูกยกย่องว่าทรงมีพระอัจฉริยะภาพ ทั้งด้านการละคร การแสดง และปรากฏผลงานภาพฝีพระหัตถ์ ที่เป็นภาพล้อ หรือการ์ตูน(ดังที่เกิดภาพล้อพระองค์ทรงนำคนสยามชักรอกขึ้นเหนือคนเขมร ญวน ด้วยปรีชา วิริยภาพ ด้านกสิกรรม และหัตถกรรม การศึกษา ทหาร ฯลฯ) นอกจากนั้น พระองค์ทรงพระปรีชา ด้านโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ ดังปรากฏผลงาน“เที่ยวเมืองพระร่วง”(ช่วง พ.ศ.2450 เป็นเวลาที่เกิดความตกลงของรัชกาลที่ 5 เขาพระวิหารจึงได้ถูกขีดเส้นให้เป็นของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา) รวมถึงทรงมีผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” และ “เทศนาเสือป่า” เป็นต้น

ผลงานของรัชกาลที่ 6 ส่งผลต่อพลังอำนาจ ด้านแนวคิด หรือ อุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันสะท้อนพระพุทธศาสนาประจำชาติออกมา ซึ่งรับอิทธิพลจากสมัยรัชกาลที่ 5 ในส่วนด้านอื่นๆ ก็มีความสำคัญ ท่ามกลางความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการค้า แนวทางทุนนิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 และด้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงส่งทหารเข้าร่วมการรบในสงคราม เป็นส่วนสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงของรัฐราชสมบัติสยามขณะนั้น ทำให้เกิดการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง และการท้าทายอย่างใหม่

โดยกระแสความคิดทางการเมืองการปกครอง และลัทธิสังคมเศรษฐกิจ เช่น คอนสติติวชั่น ปาลิเมนต์ เก๊กเหม็ง รีปับลิก อานาคิช โสเชียลิสต์ ฯลฯ สะพัดอยู่ในหมู่ชนชั้นกลางทั้งในและนอกราชการ อันเป็นชนชั้นนักอ่าน นักเขียน นักแปลในสยาม สุดที่พระราชอำนาจสมบูรณ์ทางทฤษฎี ทว่าถูกจำกัดในทางปฏิบัติจากสิทธิสภาพนอกเขตของฝรั่ง และระบบราชการสมัยใหม่ ซึ่งเติบโตพร้อมกับทุนจีนเสรี ต่างๆ ในสถานการณ์นั้น รัชกาลที่ 6 ทรงพระนิพนธ์ อุตตรกุรุ : ดินแดนอัศจรรย์ของเอเชีย คือ รัชกาลที่ 6 ทรงเปรียบเทียบแนวคิด ยูโทเปีย และลัทธิโสเชียลิสต์สมัยใหม่ โดยเปรียบว่า สิ่งนั้นมีอยู่ในไตรภูมิ-อุตรกุรุทวีป-ยุคพระศรีอาริย์ แม้ว่าในรัชกาลที่ 6 ทรงพระนิพนธ์บทความดังกล่าวเพื่อยับยั้งกระแสลัทธิโสเชียลิสต์สมัยใหม่ ที่จะมีผลต่อการเมืองสยาม ก็สะท้อนคติไตรภูมิ- พุทธศาสนา มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสมัยนั้น(และสืบต่อมา ที่ประกาศคณะราษฎร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อยุคพระศรีอาริย์)

ส่วนกรณีผลพวงจากการเสียดินแดนฝั่งซ้าย และฝั่งขวาแม่น้ำโขง ทำให้เชียงของส่วนหนึ่งตกเป็นของฝรั่งเศส หรือกบฏเงี้ยว ฯลฯ แม้แต่ในเชียงของก็ตาม ทำให้มีการปฏิรูปต่อจากรัชกาลที่ 5 ทรงยกเมืองขึ้นเป็นจังหวัดนั้น กระบวนการการสร้างสำนึกของชาติยังไม่สิ้นสุด เพราะการยกเมืองเชียงราย ให้อยู่ในมณฑลพายัพ พ.ศ.2453 ถึงรัชกาลที่ 6 เกิดปัญหาปี พ.ศ. 2455 คือ กบฏ ร.ศ. 130 และในปี พ.ศ.2458(ห่างกัน 5 ปี) โปรดทรงให้รวบรวมมณฑลต่างๆ ออกรวมเป็น 4 ภาค ปักษ์ใต้ พายัพ อีสานและอยุธยา ส่วนกรุงเทพมหานาครนั้นเป็นอีกมณฑลหนึ่งต่างหาก ต่อมาก็เลิกตำแหน่งเจ้าเมือง โดยเจ้าเมืองคนสุดท้ายของเชียงของ คือพระยาจิตวงษ์วรยศรังษี โดยยกเลิกตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 ต่อมาเชียงของ ซึ่งเคยขึ้นอยู่กับน่าน กลายเป็นขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงราย

กล่าวโดยย่อ จากอิทธิพลจากรัชกาลที่ 5 ที่มีการต่อสู้พรมแดนแม่น้ำโขง กรณีปราบฮ่อ แล้วเกิดอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ในจังหวัดหนองคาย ก็คือ ภาพสะท้อนของการทำให้เกิดการรับช่วงต่อของความคิดสร้างอาณานิคมภายในที่มีแผนที่สมัยใหม่เกิดขึ้นแล้ว ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ที่มีการฝังหมุดคณะราษฎร ณ อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงก่อตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำ คือ กรมประมงในปัจจุบัน เพื่อการรักษาอนุรักษ์สัตว์น้ำ และก็มีปรากฏการณ์ของป้ายจารึก กับอนุสาวรีย์ ที่สำคัญเกี่ยวกับสุนัข คือ อนุสาวรีย์สุนัขย่าเหล โดยมีคำจารึกเป็นส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์ ทำให้ทราบเหตุผลในการก่อสร้างไว้ หมายถึงเพื่อเป็นพยานรัก ที่แสดงความซื่อสัตย์ระหว่างสุนัขตัวนี้ กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉะนั้น อนุสาวรีย์เป็นเครื่องหมายสำคัญทางสัญลักษณ์ของรัฐไทยเป็นต้นมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 7

“ชาตินิยม” ในนามประเทศสยาม สู่การเปลี่ยนนามประเทศไทย และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
คณะราษฎร ประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2481 และมีการก่อตั้งสวนสัตว์ดุสิตในปี พ.ศ.2481 และต่อมาก็เปลี่ยมนามประเทศ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย”[10] หลังจากนั้น มีการวางศิลาฤกษ์ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น ก็ตั้งแต่ในวันเปลี่ยนนามสยามเป็นไทย” โดยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเกี่ยวกับหลัก 6 ประการ คือ เอกราช และความสงบภายใน สิทธิ เสรีภาพ ฯลฯ เป็นต้น มีพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2483) ฉะนั้น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเครื่องหมาย เพื่อสะท้อนอุดมการณ์ประชาธิปไตย

เมื่อรัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนที่ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5) ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน “มณฑลบูรพา” และ “ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง”
จนในที่สุด ก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง “กองกำลังบูรพา” ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น “มหามิตรใหม่” เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ยถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบร้อยแล้ว) จำต้องยอมยกดินแดนให้ “ไทย” สมัยพิบูลสงคราม (ทำให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475)

แผนที่ดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศส ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามยึดได้มาเมื่อปี พุทธศักราช 2484 คือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม และจังหวัดนครจำปาศักดิ์ ในกรณีของจังหวัดพิบูลสงครามนั้น คือจังหวัดเสียมเรียบของกัมพูชาเดิมนั่นเอง แต่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นของไทย ในกรณีของจังหวัดจำปาศักดิ์นั้น รวมอาณาบริเวณทางตอนใต้ของเทือกพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหารและเมืองจอมกระสาน ฯลฯ
เมื่อนั้นเอง ที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้หลวงวิจิตรวาทการ นักอำมาตยาเสนาชาตินิยม มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483

ช่วงสมัยดังกล่าว ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า “ได้ปราสาทเขาพระวิหาร” มา ดังหลักฐานในหนังสือ “ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน” ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า “ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ[11]

กรณีปราสาทเขาพระวิหาร-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จงเปลี่ยนความหมาย “ชาตินิยม”เพื่อชัยชนะร่วมกัน
ด้วยเหตุพิพาทอินโดจีนดังกล่าว จึงเกิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 เพื่อแสดงวีรกรรม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่เสียชีวิต ซึ่งรูปแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเปรียบเทียบแตกต่างจากอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีลักษณะสถูปเจดีย์[12] ดังนั้น อนุสาวรีย์สะท้อนรูปแบบชาติไทยไปในตัวเอง คือรูปแบบศิลปะสมัยใหม่ และร่างกายของทหาร มีกล้ามเนื้อมากกว่าจะเป็นรูปแบบร่างกายในงานจิตรกรรมภายในวัด ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเจดีย์ดังกล่าวไปแล้ว แต่ว่าสิ่งที่สะท้อนชี้ให้เห็นถึงการผสมผสานแนวคิดปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม กับการเรียกร้องพรมแดน คือ สงครามอินโดจีน มีกรณีเขาพระวิหาร เป็นตัวอย่าง ซึ่งทำให้เห็นว่า “ปรัชญาประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม” ก็ยังอยู่ในความทรงจำ แม้ว่าจะมีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (Victory Monument) ก็เป็นอนุสาวรีย์ในกรุงเทพมหานคร โดยรอบเป็นวงเวียน อยู่กึ่งกลางระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท ตั้งอยู่ที่ กิโลเมตรที่ 0.0 ของถนนพหลโยธิน (แต่เดิมชื่อถนนประชาธิปัตย์ แล้วเปลี่ยนเป็นถนนพหลโยธิน)
ดังนั้น ความสำคัญของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นอกจากเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญและเป็นที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิตใน กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีน) สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีอีกด้วย โดยการออกแบบอนุสาวรีย์ของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล มีแรงบันดาลใจ 5 ประการ คือ

-ปฏิบัติการของกองทัพทั้ง 4
-ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญของกำลังพลโดยเฉพาะ
-อาวุธที่ทหารใช้สู้รบ
-เหตุการณ์ที่สำคัญที่ต้องเปิดการสู้รบ
-ความสนใจของประชาชน

หม่อมหลวงปุ่มใช้ดาบปลายปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร โดยใช้ดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส

ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาดสองเท่าคนธรรมดา ของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศิลปินผู้ปั้นรูปเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประสุข, แช่ม ขาวมีชื่อ ภายใต้การควบคุมของ ศ.ศิลป พีระศรี (ซึ่งก็มีการกล่าวว่าอนุสาวรีย์เป็นแบบนีโอ-ฟาสซิสม์ ฯลฯ เป็นต้น)

กรณีทางการเมือง ก็พลิกผันกลับมาอีกครั้งของรัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วยช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยู่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2497 และอิทธิพลทางศิลปะสมัยใหม่ ก็ถึงจุดเปลี่ยนไป คือรูปแบบศิลปะคณะราษฎร์ หายไป
ตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ทุกอย่างก็กลับคืนสู่ช่วงก่อนเวลา พ.ศ. 2475 หมด และผลงานศิลปะจึงกลายป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาก มีการสร้างอนุสาวรีย์พระบิดาด้านต่างๆ โดยใช้คนกลุ่มเดิมซึ่งก็คือ ศิลป์ พีระศรี และหลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้สืบสร้างงานศิลปะและสัญลักษณ์ นั่นเอง[13] จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว อิทธิพลทางศิลปะของคณะราษฎร์จะสร้างชาติผ่านทางปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะ จึงหายไปด้วย เพราะการผสมกลมกลืนกับประวัติศาสตร์ชาติแบบเดิม

กล่าวได้ว่า ความห่างไกลและความกันดารของทั้งตัวภูเขาและตัวปราสาทในสมัยนั้น และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทำให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆ ไป ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง “กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช” และ “นักราชาชาตินิยม” ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน “รักชาติ” และพ่ายแพ้ตามคำตัดสินของศาลโลก
เมื่อผู้คนสนใจเขาพระวิหาร มากขึ้น และกระแสทางการเมือง ช่วยหนุนนำไป ทำให้ปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่พยายามสร้างอาณานิคมดินแดนของเรา มีแหล่งที่มาของศิลปะ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และในรัชกาลที่ 6 กระแสศิลปะแบบชาตินิยมเดิม จึงกลับมายังในนามประเทศไทย รวมทั้งยุครัฐบาลสฤษดิ์ แม้ว่าจะเดินตามกระแสการพัฒนาแบบอเมริกัน และเข้าสู่สงครามเย็นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา หลังจากการพัฒนาประเทศไทย มาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยนโยบาย “เปลี่ยนจากสนามรบเป็นสนามการค้า[14]” (ยุครัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เคยไปรบศึกอินโดจีน) จนถึงกรณีกบ สุวนันท์ กับนครวัด ทำให้เกิดการประท้วง และเผาสถานทูต ผลพวงเหล่านี้ มาถึงในยุคปัจจุบัน เกิดกระแสชาตินิยม ต่อกรณีปราสาทเขาพระวิหาร โดยในท้ายที่สุดประเทศไทย น่าจะมีเป้าหมายของประเทศ ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์กับกัมพูชา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยมของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ยังผลให้มีความหมายชัยชนะร่วมกัน(Win-Win) โดยสร้างความร่วมมือ และเรียนรู้ ทางปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มต้นจากกรณีปราสาทเขาพระวิหาร น่าจะช่วยก่อให้เกิดมรดกโลกที่แท้จริง

[1] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทเขาพนมรุ้ง กรณีศึกษา ไสยศาสตร์-มนตร์ดำ-การเมือง และชาตินิยม’ http://www.prachatai.com/05web/th/home/12629
[2] ดูเพิ่มเติม อรรคพล สาตุ้ม การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรม ของวัดสองฝั่งโขงhttp://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=8341&Key=HilightNews)

[3]นิยะดา เหล่าสุนทร เทพยกวีที่ถูกลืม. กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ,2538: 17-18
[4] Thongchai Winichakul, Siam Mapped : a History of the geo-body of a Nation. Chiang Mai: Silkworm Books, 1994. :129
[5]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. การศึกษาพรมแดนความรู้ทางประวัติศาสตร์ ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.:127
[6] กัณฐิกา ศรีอุดม “พร”ของพระนครในสมัยรัชกาลที่ 5 วารสาร เมืองโบราณ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑(มกราคม-มีนาคม) ๒๕๔๙:๓๖-๔๘ และอรรคพล สาตุ้ม ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ ชาวจีนกับผู้ปกครอง ความเชื่อ พิธีกรรม ในศาลเจ้าจีนจังหวัดเชียงใหม่ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 268 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 : ๔๔-๕๐
[7] พิริยะ ไกรฤกษ์ ศิลปะสุโขทัยและอยุธยาภาพลักษณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง : รวมบทความทางวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะ กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๕ และ ที่มา ตามเส้นทางเสด็จประพาส...ประวัติศาสตร์จากภาพโบราณ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=104919
[8] ชาตรี ประกิตนนทการ พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นไทย วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 32 ฉบับที่ 3 (กรกฏาคม-กันยายน) 2549 : 80 และมาอูริซิโอ เปเลจจี “ยี อี เยรินี กับกำเนิดโบราณคดีสยาม”แปลโดย กนกวรรณ ฤทธิไพโจน์ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 (กรกฏาคม-กันยายน) 2548 :57 และดูเพิ่มเติม พิริยะ ไกรฤกษ์ อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม ๑ กล่าวว่าปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะ คือ การอธิบายตามปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะของรัชกาลที่ 6 ก็เผยแพร่ให้คนทั้งหลายรู้เห็นความรุ่งเรืองของสยาม และเพื่อช่วยกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยม และพิริยะไกรฤกษ์ พรมแดนแห่งความรู้ : รวมบทความของศิษยานุศิษย์ของพระยาอนุมานราชธน โดยพิริยะไกรฤกษ์ กล่าวถึงกรอบของการเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็ปรากฏว่า วิเคราะห์ประวัติการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ตั้งแต่ รัชกาลที่ 4-2527 และกล่าวว่าช่วง 2483-2492(กระแสชาตินิยมเช่นกัน) มีความนิยมอารยธรรมตะวันตกนั้น มากกกว่าค้นคว้าเรื่องในอดีต เป็นต้น
[9] ดูเพิ่มเติม อรรคพล สาตุ้ม ย้อนดูภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม ตอนที่ 1-3 http://www.prachatai.com/05web/th/home/10753
[10] ดูเพิ่มเติม: ย้อนดูภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม เพิ่งอ้าง
[11] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม www.charnvitkasetsiri.com/PDF/PreahVihearFor20June.pdf
[12] ดูเพิ่มเติม: ย้อนดูภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม เพิ่งอ้าง
[13] ชาตรี ประกิตนนทการ สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=9615&Key=HilightNews
[14] อรรคพล สาตุ้ม ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา อำนาจรัฐ ธุรกิจ และสื่อ ยุคโลกาภิวัตน์ พลเมืองเหนือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 68 17-23 กุมภาพันธ์ 2546 : 6


หมายเหตุ : บทความนำเสนอ ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 4 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 13-14 พ.ย.51

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น