วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

"ศิลปกรรม" อนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ ตั้ว ลพานุกรม-พูนศุข พนมยงค์ และประชาชน

“ศิลปกรรม” อนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ ตั้ว ลพานุกรม- พูนศุข พนมยงค์ และประชาชน
ประเด็นของบทความ มองผ่านศิลปกรรม “อนุสาวรีย์ปรีดี” กระบวนการเรียกร้องต่อสู้ของการมีอนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ และ อนุสาวรีย์คณะราษฎรสายพลเรือน ดร.ตั้ว ลพานุกรม ซึ่งถูกยกย่องเป็นรัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ ศิลปะกับตัวแทนทางวิทยาศาสตร์ ความสำคัญที่นำอนุสาวรีย์ปรีดี กับตั้ว มาศึกษาจะเห็นภาพสะท้อนตรงกันข้ามกันทางความหมายทางศิลปะ และกรณีพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตของปรีดี จนถึงการมองผ่านมาเห็นคุณค่าของอนุสาวรีย์สามัญชนหรือประชาชน



อรรคพล สาตุ้ม
เจ้าหน้าที่พิเศษโครงการย้อนร้อยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์


การพิจารณาอดีต
การระลึกถึงอดีต มีวิธีการเพื่อสื่อสารหลายอย่างโดยการสร้างอนุสาวรีย์ แบบเรียน และบันทึกเหตุการณ์เล่าถึงอดีตว่า คณะราษฎรได้ถูกจัดตั้ง และประชุมครั้งแรก ณ หอพักในฝรั่งเศส โดยต่อมาสมาชิกคณะราษฎร มีจำนวนเพิ่มขึ้น หลังจากกลับมายังประเทศสยาม จึงแบ่งเป็นสามสายคือ สายทหารบก สายทหารเรือ สายพลเรือน โดยสมาชิกที่สำคัญในการก่อตั้งคณะราษฎร ในแต่ละสายได้แก่ สายทหารบก: พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ), พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น), และ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ ) สายทหารเรือ: หลวงสินธุสงครามชัย, หลวงศุภชลาศัย, หลวงสังวรยุทธกิจ, และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์(ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี) สายพลเรือน: หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์ ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี), ตั้ว ลพานุกรม, แนบ พหลโยธิน, ทวี บุณยเกตุ(ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี), และประยูร ภมรมนตรี
จากรายชื่อของคณะราษฎร แล้ว จะเห็นได้ว่า ชื่อ มีความสำคัญ ในเวลาต่อมา ที่คณะราษฎร ขึ้นมาปกครองประเทศ เช่น ชื่อถนนประชาธิปัตย แล้วเปลี่ยนเป็นถนนพหลโยธิน ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีที่มาจาก พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน), และสนามศุภชลาศัย (หลวงศุภชลาศัย) เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีชื่อจังหวัดพิบูลสงคราม ในครั้งสงครามอินโดจีน ไทยรบกับฝรั่งเศส ดังนั้น จะเห็นได้ว่า บทบาททางการเมือง มีผลต่อการสร้างสัญลักษณ์ คือ อนุสาวรีย์ เป็นอย่างมาก ดังที่ปรากฏการสร้างงานศิลปะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสาวรีย์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า อื่นๆ
ประเด็นของบทความ มองผ่านศิลปกรรม “อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์” จะเห็นภาพลักษณ์ของคณะราษฎรสายพลเรือน ซึ่งการสร้างอนุสาวรีย์ปรีดี ในภายหลังสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่างๆ เมื่อหมดอำนาจทางการเมืองในฐานะรัฐบาล และภายหลังอสัญกรรมของปรีดี ก็ตามมาด้วยกระบวนการเรียกร้องต่อสู้ของการมีอนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ ในกระแสความคิดทางการเมือง จึงเกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองสืบต่อมา และ อนุสาวรีย์คณะราษฎรสายพลเรือน ดร.ตั้ว ลพานุกรม ซึ่งถูกยกย่องเป็นรัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปีพ.ศ.2550 คือ ศิลปะกับตัวแทนทางวิทยาศาสตร์ ความสำคัญที่นำอนุสาวรีย์ปรีดี กับตั้ว มาศึกษาจะเห็นภาพสะท้อนตรงกันข้ามกันทางความเป็นมาของความหมายทางศิลปะ และกรณีตัวอย่างพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตของปรีดี บททดลองนำเสนอ ว่าด้วยอาจจะมีอนุสาวรีย์ทางการเมืองใน มุมมองสตรีนิยม ที่น่าสนใจเช่นใด ในภายหลังอนิจกรรม[*]จนถึงการมองผ่านมาเห็นคุณค่าของอนุสาวรีย์สามัญชนหรือประชาชน

คณะราษฏร ในฐานะผู้นำประเทศ : พระยาพหลพลพยุหเสนา-จอมพล ป. พิบูลสงคราม และปรีดี พนมยงค์ ผู้ร่วมสร้างศิลปกรรม
เมื่อสมาชิกคณะราษฎร มีจำนวนเพิ่มขึ้น หลังจากกลับมายังประเทศสยาม และก็ติดต่อกับกลุ่ม พระยาพหลพลพยุหเสนา และได้เข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ บุคคลที่ประสานเชื่อมโยงคณะราษฎรจากปารีสกับสายทหารในพระนคร คือ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งมีความสนิทสนมกับ พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา รองจเรทหารบก กับ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช เสนาธิการโรงเรียนนายร้อย ซึ่งเป็นนักเรียนเยอรมัน โดยทั้งสองได้มาเรียนภาษาเยอรมันเป็นประจำ ที่บ้านมารดาของ ร.ท. ประยูร ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนกระทั่งชักชวนเข้าร่วมในคณะราษฎร
โดยตำแหน่งของพระยาพหลพลพยุหเสนา ในอดีต คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหนึ่งในคณะราษฎรฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่ เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือ ที่ประกอบด้วย ตัวท่าน, พระยาฤทธิ์อัคเนย์, พระยาทรงสุรเดช และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ในระหว่างการประชุมวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น พระยาพหล ฯ ได้เคยมีดำริถึงเรื่องนี้มาก่อนและเปรยว่า ทำอย่างไรให้อำนาจการปกครองอยู่ในมือของคนทั่วไปจริง ๆ ไม่ใช่อยู่ในมือของชนชั้นปกครองแค่ไม่กี่คน และเมื่อคณะราษฎรทั้งหมดยกให้ท่านเป็นหัวหน้า ท่านก็รับตำแหน่งไว้
กระนั้น เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อทหารทุกหน่วยมาพร้อมแล้ว พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เดินออกจากร่มเงาต้นอโศกข้างถนนราชดำเนิน เพื่อแสดงตนเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และทำหน้าที่อ่านประกาศฉบับแรกของคณะราษฏร เป็นต้น
นับแต่นั้นมา ด้วยฐานะผู้นำคณะราษฎร จึงได้รับฉายาว่า "เชษฐบุรุษประชาธิปไตย" จากบทบาทที่มีค่อนข้างสูงในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเป็นผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารบก และหลังจากที่คำว่าประชาธิปไตยได้ถูกบัญญัติและเผยแพร่ไป มีชาวบ้านบางคนคิดว่า เป็นชื่อของลูกชายของพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วยซ้ำ ซึ่งการพิจารณาลำดับการดำรงตำแหน่งของพระยาพหลพลพยุหเสนา ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 1 โดยการทำรัฐประหารรัฐบาลของ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สลับกับตำแหน่งรัฐมนตรีหลายครั้ง จนถึงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 ยุบสภาและลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา ยุติบทบาททางการเมืองไป ซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา ก็คือ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) นายทหารรุ่นน้องที่ท่านรักและไว้ใจนั่นเอง ซึ่งสาเหตุเบื้องหลังการปฏิวัตินั้น ก็มีความสนใจโดยนักเขียนอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์(ศรีบูรพา) ก็เคยสัมภาษณ์พระยาพหลพลพยุหเสนาไว้ หลังจากสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจากสภาพการณ์ทางการเมือง ที่มีสภาวะความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ อย่างมากในการเปลี่ยนแปลงระบอบเก่า และทำให้เกิดภาวะเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ซึ่งสะท้อนให้ประชาชนอยู่ภายใต้โครงสร้างของการเมืองต้องเลือกผู้นำ และประชาชนเดินตาม เท่านั้น
ดังนั้น ลักษณะของภาวะผู้นำคณะราษฎร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ถ้าเรียกแบบภาษาชาวบ้านๆ หน่อย ก็คือ ประสานสิบทิศ หรือ กลางๆ ไว้ก่อน ปลอดภัยกว่ารุกฆาต และจะใช้ธรรมะเป็นแกนกลาง อันเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งมีอิทธิพลต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือหลวงพิบูลสงคราม ในขณะนั้น รวมทั้งหลวงประดิษฐมนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นคนหนุ่มอยู่อย่างมาก เกินกว่าจะเป็นผู้นำประเทศในเวลาดังกล่าว และก็เคยมีความคิดเชิงธรรมนิยม เช่น กรรมการธรรมนิยม ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกรรมการรัฐนิยม ดังที่มีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของทั้ง 3 คน ไว้[1] และร่วมกันสร้างแนวทางศิลปะราษฎร[2] หรือศิลปกรรมต่างๆ ในที่กล่าวตอนผู้เขียนเกริ่นนำไปแล้ว แต่ว่า ประเด็นความเป็นมาที่สำคัญจากกลุ่มสายทหาร มีบทบาททางการเมืองอย่างมาก ก่อนสายพลเรือน จะขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองอย่างปรีดี ซึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แล้วพลิกกลับมาเป็นบทบาททหารโดยจอมพล ป.-จอมพลสฤษดิ์(มีอนุสาวรีย์ทั้งสองคน) จึงทำให้เกิดความคิดในเวลาต่อมาของกลุ่มนักศึกษา ก่อน 14 ตุลา[3] ซึ่งมองเห็นว่า คณะราษฏร ก็เป็นแค่กลุ่มเผด็จการทหาร หรือในทัศนะของจิตร ภูมิศักดิ์ (ผู้เขียนศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน[4]) ก็มองกลุ่มคณะราษฎรสายทหารคล้ายคลึงแบบเดียวกับนักศึกษาดังกล่าว โดยวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ ของความคิด ดังกล่าว สืบทอด เป็นมรดกต่อมา ก่อนจะเกิดอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์

กระบวนการต่อสู้เพื่อรื้อฟื้นภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎรสายพลเรือน
จากกรณีสวรรคต ร. 8 หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต นายปรีดีและคณะรัฐมนตรีได้ขอความเห็นชอบต่อสภาว่า ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ควรได้แก่สมเด็จพระอนุชา เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว นายปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้สวรรคตเสียแล้ว

เหตุการณ์นี้ ทำให้ศัตรูทางการเมืองของท่าน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจและพรรคการเมืองฝ่ายค้าน สบโอกาสในการทำลายนายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก กลายเป็นกระแสข่าวลือ และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม มีหนังสือ หรือ ข้อมูลบางที่ ที่บ่งบอกถึง ข้อมูลในเชิงลึกต่างๆที่ กล่าวหาท่านว่าเป็น ผู้วางแผนลอบปลงพระชนม์ แต่ไม่มีการพิสูจน์จนปัจจุบัน ที่ยังเป็นปริศนา และมีผลทำให้ภาพลักษณ์ของปรีดี ซึ่งเคยมีภาพว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก็ถูกใส่ร้ายป้ายสี กลายเป็นปีศาจทางการเมืองในเวลาต่อมา [5]

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารซึ่งประกอบด้วย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ พ.อ. กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ. ถนอม กิตติขจร พ.ท. ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ. สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลที่มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารพยายามจะจับกุมตัวนายปรีดีกับครอบครัว แต่นายปรีดีทราบข่าวก่อนเพียงไม่กี่นาที จึงหนีทัน และได้ลี้ภัยการเมือง ไปยังประเทศสิงคโปร์ สองปีถัดมา ก็ลี้ภัยต่อไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และหวนกลับมาอีกครั้งในเหตุการณ์กบฏวังหลวง แต่กระทำการไม่สำเร็จ จึงลี้ภัยอีกครั้ง และได้พำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาถึง 11 ปี ก่อนจะลี้ภัยต่อไปยังประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทำให้บทบาทของปรีดี พนมยงค์ แทบจะถูกลบเลือนหายไปจากความทรงจำของคนไทยเลย

ครั้นต่อมา สถานการณ์ทางการเมือง ก่อน 14 ตุลา มีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มวลัชทัศน์ เชียงใหม่ และกลุ่มนักศึกษาต่างๆ อิทธิพลของความคิด ที่มีสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ผู้นำโดย ส.ศิวรักษ์ กลับมาฟื้นภาพลักษณ์ กับปรีดี พนมยงค์ มากขึ้น เป็นต้น จะมีบ้างที่กลับมาเห็นบทบาทของปรีดี พนมยงค์อีกครั้ง เป็นบางช่วงเวลา เช่น จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม โดย...ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นการเขียนบทความ มาจากว่าด้วยคณะกรรมการจัดงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ประจำปี 2516 ปรารถนาได้บทความหรือคำขวัญของข้าพเจ้าไปลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกซึ่งจะจัดทำขึ้น
ข้าพเจ้า ยินดีสนองศรัทธาโดยให้คำขวัญว่า “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” เมื่อกระแสของเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านไป หลังจากนั้น ก็มีนักวิชาการอย่าง ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้เขียนหนังสือโต้ท่านปรีดี [6]เหตุการณ์ในอดีต มีที่มา อาจารย์ชัยอนันต์ เป็นกำลังสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงฉบับหนึ่ง ในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นี่เอง อาจารย์ชัยอนันต์มีโอกาสทำงานใกล้ชิด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เมื่อมีการยกย่องรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 เปรียบเทียบกับฉบับปี 2489 อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เขียนวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2517 จึงเกิดการโต้แย้งกันนั่นเอง และก็เริ่มเห็นถึงอิทธิพลทางวิชาการของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเริ่มก่อกระแสภาพลักษณ์ประชาธิปไตย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาในทัศนะของผู้เขียน
เนื่องมาจาก ปรีดี ถูกทำให้ถึงขั้นกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนทางประวัติศาสตร์ แม้แต่กรณีสำคัญๆอย่าง 2475 หรือ เสรีไทย เมื่อมีการกล่าวถึง ก็มีการพยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวชื่อปรีดี ซึ่งนับเป็นเรื่องอยุติธรรมอย่างมหาศาล แต่ในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา ความอยุติธรรมนี้ได้รับการแก้ไข[7] จนถึงช่วงที่การเมืองเปลี่ยนผ่านนี้เอง จะเห็นตัวตนของปรีดี พนมยงค์ ผ่านการแก้ไขภาพลักษณ์ปิศาจทางการเมือง เช่น การต่อสู้คดีความเรื่องกรณีสวรรคต ร.8 [8] เป็นต้น
ดังนั้น ความสำคัญของการโต้วาทกรรมเรื่อง กรณีสวรรคต ร.8 จึงมีคนทำหน้าที่ผลิตหนังสือ โดยสุพจน์ ด่านตระกูล ผลิตวาทกรรมโต้ตอบคดีดังกล่าว ก็มีเรื่องผ่านทางศาสนา กรณีตัวนายตี๋ ศรีสุวรรณ ยังได้ไปสารภาพบาปกับท่านปัญญานันทภิกขุ แห่งวัดชลประทาน อ.ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี(หลวงพ่อปัญญา อดีตเจ้าอาวาสวัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม จังหวัดเชียงใหม่)
เมื่อปี พ.ศ. 2522 ขณะที่ตัวนายตี๋ ศรีสุวรรณ เองอายุได้ 102 ปี ว่าไปเป็นพยานเท็จในคดีสวรรคตทำให้ผู้บริสุทธิ์ 3 คน ต้องถูกประหารชีวิต[9] …เป็นต้น และต่อมาปรีดีถึงแก่อสัญกรรม ท่านปัญญานันทภิกขุ ก็เป็นประธานพิธีฌาปนกิจศพรัฐบุรุษอาวุโสของไทย อย่างเรียบง่ายตามเจตนารมณ์ของผู้วายชนม์ ณ บริเวณสุสาน Pere Lachaise[10] และในเวลาต่อมากระบวนการต่อสู้เพื่อรื้อฟื้นความหมายเพื่ออนุสาวรีย์ปรีดี ก็เกิดขึ้น

“ศิลปกรรม” อนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์-ตั้ว ลพานุกรม
พลังปัญญาชน ซึ่งผลักดันภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ส.ศิวรักษ์ คนอื่นๆ เสนอโครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย จนถึง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คนอื่นๆ เสนอโครงการเขียนประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ เป็นต้น จะแสดงให้เห็นดัง ตัวอย่าง เช่น งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2526 ชาวธรรมศาสตร์ได้ขึ้นภาพแปรอักษรเพื่อระลึกถึงนายปรีดีความว่า

"พ่อสร้างชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ" และต่อมามีการตอบจดหมายถึงประธานและกรรมการเชียร์ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ ว่า “ผมจึงขอขอบคุณ ท่านทั้งหลาย และนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่มีความปรารถนาดี แสดงรูปภาพ ประกอบด้วยคำขวัญเพื่อระลึกถึงผม” ซึ่งต่อมาเสียงของการรณรงค์ และการต่อสู้เรียกร้องของปัญญาชน หลังอสัญกรรมของปรีดี ว่า “ควรให้เจ้าภาพจัดพิธีรัฐ และเป็นผู้ริเริ่มเรื่องเงินบริจาค…ทางส่วนของฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมกันดำเนินการเพื่อเผยแพร่ผลงานของท่าน และรณรงค์หาเงินทุนมาสร้างอนุสาวรีย์ต่อไป” แต่คำตอบของรัฐยังคงเหมือนเดิม และไม่สนใจที่จะดำเนินการเกี่ยวกับงานศพให้เป็นรัฐพิธีแต่อย่างใด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องรับเป็นศูนย์กลางจัดสร้างอนุสาวรีย์ ซึ่งเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ 2 พฤษภาคม 2526 เป็นต้นมา

ดังนั้น ความทรงจำร่วมของสังคมที่ได้รับการสร้างขึ้น โดยรัฐไทย มีแนวโน้มละเลยความสำคัญของประชาชน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้างประวัติศาสตร์สังคมการเมือง นอกจากนี้ในการสร้างความทรงจำร่วมอื่นๆ รัฐไทยยังยินดีสร้างสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น เดือนกุมภาพันธ์ 2525 รัฐบาลพลเอก เปรม ได้อนุมัติ หลักการให้สร้างอนุสรณ์สถานวีรชนแห่งชาติเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทหารของกองทัพบก รวมทั้งเพื่อบรรจุอัฐิบรรดาวีรชนผู้พลีชีวิตเพื่อชาติ และก็มีการสร้างอนุสาวรีย์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม คณะราษฎรสายทหาร ด้วยเหตุผลว่าจอมพล ป. เป็นนายทหารปืนใหญ่คนหนึ่ง ที่ได้สร้างคุณงามความดีและคุณประโยชน์ให้กับเหล่าทหารปืนใหญ่และประเทศไทยไว้อเนกประการ ด้วยความเป็นที่นิยมของชาวไทย ในสมัยที่จอมพล ป. มีชีวิตอยู่ ประชาชนได้ยอมรับการเป็นผู้นำของเขา ให้พ้นภัยจากวิกฤติการณ์ โดยการที่จอมพล ป. ได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 8 สมัย
ที่มาของอนุสาวรีย์แห่งนี้คือ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2522 พลตรี อัมพร สมบูรณ์ยิ่ง ผู้บัญชาการ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ในขณะนั้น ได้ขึ้นไปบนตึกพิบูลสงคราม เพื่อตรวจเยี่ยมสถานที่ พลตรี อัมพร ได้พบรูปปั้นของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขนาดเท่าตัวจริงที่ชั้นที่ 3 จึงได้ปรารภถึงคุณความดีของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะเป็นผู้นำ ชาติให้พ้นภัยนำชาติบ้านเมืองมาสู่ความเจริญ และจอมพล ป. เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และยังเทอดทูนสถาบันชาติ, ศาสนาและพระมหากษัตริย์ตลอดมา จึงคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้น ณ บริเวณหน้าประตูค่ายพหลโยธิน ด้านทิศใต้ โดยให้กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง
เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2523 เสร็จสิ้นสมบูรณ์(ปีเดียวกับเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้ารัฐสภา) เมื่อ วันที่ 1 กรกฎาคม 2525 งบประมาณก่อสร้างประมาณ400,000 บาท ได้รับการอนุเคราะห์จาก ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม[11] และทายาท, มูลนิธิ จอมพล ป.พิบูลสงครามและท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และงบบริจาคอื่นๆ และเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2525 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้กรุณาให้เกียรติไปเป็นประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้[12] แต่การสร้างอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้รับการเมินเฉยมาตั้งแต่รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ยังได้รับการละเลยจากรัฐบาลพลเอกเปรมอีกเช่นกัน[13] ซึ่งสะท้อนปัญหาของการละเลยประวัติศาสตร์ศิลปะเพื่อประชาชนอย่างชัดเจน
เมื่อนายปรีดี ถึงอสัญกรรม เปิดโอกาสให้นักศึกษา ปัญญาชน และกลุ่มเสรีนิยม แสดงความเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐไทยแบ่งเนื้อที่ความทรงจำร่วมทางสังคมให้กับสามัญชน ในฐานะผู้สร้างประวัติศาสตร์ และอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ขนาดเท่าตัวจริง สวมชุดครุยในฐานะผู้ประศาสน์มหาวิทยาลัย โดยมีฐานรองรับสื่อเล่าประวัติความเป็นมาของปรีดี พนมยงค์ ก็อยู่ที่หน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 11 พฤษภาคม 2527 เปิดอนุสาวรีย์ โดยมีพูนศุข และครอบครัวพนมยงค์ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกไว้ ด้วยความสนใจศึกษาอนุสาวรีย์ ปรีดี และศิลปกรรม โดยมองผ่านวาทกรรม(Discourse) มีการศึกษามาแล้ว อาทิเช่น การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และมีหลายแนวทางศึกษาอนุสาวรีย์ในไทยด้วย[14]

เนื่องจากผู้เขียน ต้องการขยายความการศึกษาต่อมาจากปรีดี พนมยงค์ กับภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก[15] ซึ่งผู้เขียนได้ทำการศึกษาไว้แล้ว จึงเห็นภาพอนุสาวรีย์ และอ่านหนังสือที่มาของภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2526 เป็นแนวทางการศึกษาน่าสนใจมาก ดังที่มีการนำเสนอตอนจบของหนังสือดังกล่าวว่า ช่วงหลังพฤษภา 2535 เป็นต้นมา นักการเมืองถึงกับยอมรับภาพลักษณ์ของปรีดี โดยใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงเลือกตั้งแก่พรรคทางการเมืองในขณะนั้น ซึ่งต่อมา พ.ศ. 2543 ยูเนสโก ได้ประกาศบรรจุชื่อของท่านไว้ใน ปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก
แม้ว่าความสำคัญของปรีดี จะเพิ่มมากขึ้น จากระดับชาติสู่ระดับโลก แต่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ก็ยังไม่จบ เพราะว่า เมื่อปีพ.ศ.2545 ความขัดแย้งเรื่องให้กลับมาใช้ชื่อถนนเดิมของถนนประดิษฐ์มนูธรรมโดยมีการเปลี่ยนชื่อถนนประดิษฐมนูธรรม (หรือถนนปรีดี) เป็นถนนประเสริฐมนูกิจ ในยุคสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

กระนั้น ว่าด้วยโจทย์สำคัญของผู้เขียน คือ อธิบายความหมายของอนุสาวรีย์ โดยมองศิลปกรรม และวิเคราะห์วาทกรรม(Discourse ซึ่งถูกทำให้เป็นไทยๆแบบพุทธ) ซึ่งนิยามคำว่า ศิลปะ+กรรม=ศิลปกรรม โดยแยกแยะคำว่า ศิลปะออกจากคำว่า กรรม ซึ่ง “กรรม” คือความหมายของการกระทำ จึงเป็นผลให้สร้างสรรค์งานศิลปะ และวาทกรรมทางการเมือง ที่เราจะสร้างได้ผ่านภาษากับสัญลักษณ์ทางศิลปะ เป็นเครื่องมือสื่อสารความคิด โดยตัวอย่างโทรศัพท์มือถือ ใช้สื่อสารกันได้ ถ้ากล่าวโดยอุปมาว่า เราจะจับปลา ก็ต้องใช้เครื่องมือจับปลา เพื่อให้ได้ปลา

ดังนั้น การนำเอาแนวคิดวาทกรรม (Discourse) ซึ่งนำมาใช้เป็นวิธีวิทยาในการศึกษาอนุสาวรีย์ และคำศัพท์ว่า Deconstruction หรือ รื้อสร้าง เป็นศัพท์ฮิตร่วมสมัย ยกมาจับความรู้ทางศิลปะ และวิเคราะห์อนุสาวรีย์ จะเห็นถึงที่มีรากฐานทางศิลปะ การต่อสู้ ดังกล่าวของอนุสาวรีย์ปรีดี ในฐานะคณะราษฎร สายพลเรือน จะเรียกว่าสามัญชนขึ้นเป็นชนชั้นนำก็ได้ แตกต่างกับอนุสาวรีย์จอมพล ป. คณะราษฎรสายทหาร เพราะว่าอิทธิพลของนักศึกษา ปัญญาชน ประชาชน ผ่านกระบวนการต่อสู้เรียกร้องในการสร้างความหมายให้แก่ที่มาและความสำคัญของอนุสาวรีย์ปรีดี ซึ่งทำให้อนุสาวรีย์เป็นเครื่องมือทางศิลปะ มีพลังอำนาจคงอยู่กับเรา และ ผู้เขียนจะยกตัวอย่าง กรณีอนุสาวรีย์ ดร.ตั้ว ให้เห็นภาพตรงกันข้าม

อนุสาวรีย์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม คณะราษฏรสายพลเรือน :" รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "
ประวัติความเป็นมา ตั้ว ลพานุกรม เกิด 21 ตุลาคม พ.ศ.2411 กรุงเทพฯ เสียชีวิต 27 สิงหาคม พ.ศ.2484 ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของนายเจริญและนางเพียร ลพานุกรม การศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์และโรงเรียนราชวิทยาลัย หลังจากนั้นได้ไปต่อวิชาสามัญในโรงเรียนที่เมือง บัลเกนแบร์ก ประเทศเยอรมนี แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น เยอรมนีอยู่ฝ่ายอักษะจึงทำให้ไทยกับเยอรมนีต้องประกาศสงครามกันและ ดร.ตั้วก็เลยถูกส่งตัวไปเป็นเชลยศึก ช่วงนี้ท่านได้ศึกษาวิชาการต่าง ๆ เช่น ภาษาฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จึงสามารถทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับฝ่ายทหารได้

ก่อนหน้านี้ท่านเคยศึกษาวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต เกียรตินิยมในสาขาเคมี ในปี พ.ศ.2471 ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรในกรุงปารีสในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และท่านยังได้ศึกษาวิชาเภสัชกรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยมิวนิค และสาขาวิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ดูงานด้านวิทยาศาสตร์ งานวิจัย อุตสาหกรรม ประเทศอเมริกาและญี่ปุ่น จึงกลับสู่เมืองไทยในปี พ.ศ.2473 กลับมาเมืองไทยเพื่อรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยแยกธาตุ 2 ต่อมาเปลี่ยนชื่อ เป็นกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯในปัจจุบัน ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ ยาพิษโลหะสำหรับโรงกษาปณ์ เภสัชวัตถุ เงินปลอม ฝิ่น แร่และธาตุ ซึ่งทั้งหมด จะเป็นนักเคมี ขณะนั้นมีอยู่เพียง 7 คน ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดร.ตั้วได้เลื่อนขั้นเป็น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ คนแรก ท่านได้ขยายงานออกไป รวมทั้งบุคลากรและสถานที่และด้านการทำงานท่านได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับพืชสวนทางการเกษตร เช่น ด้านพืชสวนทางการเกษตร วิจัยน้ำมันสน น้ำมันหมู สำรวจดิน ส่งเสริมกิจการถั่วเหลือง กำหนดมาตรฐานอาหารและยังได้ก่อตั้งกองเภสัชกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมในปี พ.ศ.2482 ซึ่งก็คือ องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน

กล่าวคือ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเยี่ยม เป็นรัฐบุรุษผู้บุกเบิกพัฒนาสร้างสรรค์และส่งเสริมบำรุงวิทยาศาสตร์ของชาติให้รุ่งเรือง ชาติจะเจริญต้องมีวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการจัดการอุตสาหกรรม ท่านได้วางรากฐานการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เป็นคนแรกของไทยจึงสมควรได้รับการยกย่องให้เป็น รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะตลอด 43 ปีของการทำงาน ท่านเป็นผู้มีความรู้หลายด้าน เช่น ภาษา การเมือง การปกครอง ฯลฯ และในการประชุมคณะกรรมการเรื่องจัดสร้างอนุสาวรีย์ ก็รับทราบข้อหารือจากสำนักพระราชวังที่ว่า สามารถสร้างอนุสาวรีย์ ณ กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ โดยไม่สร้างอนุสาวรีย์ให้มีความสูงในระดับใกล้เคียง หรือสูงกว่าพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และลักษณะอนุสาวรีย์ ดร. ตั้ว แต่งตัวสวมสูท ผูกเนคไท คือ ประติมากรรมแบบลอยตัว(ครึ่งตัว)ขนาดเท่าคนปกติ ต่อมาพิธีเปิดอนุสาวรีย์ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2550 เป็นต้นมา แต่ว่าเรื่องที่ย้อนแย้ง กับอนุสาวรีย์รํฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะมีพวกไปขอหวยหรือไม่ เพราะมีเรื่องหวย โดย เลขที่ได้มาจากเลขเด็ดของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ผู้ก่อตั้งองค์การเภสัชกรรม

“….นักเลงหวยจ๋อยสนิทเมื่อหวยงวดนี้เลขท้าย 3 ตัวบนออกเลขเบิ้ลอีกครั้ง ขณะที่แฟนหวย ดร.ตั้ว องค์การเภสัชกรรม ก็ซึมเศร้าไปตามๆกัน เมื่อเลขเด็ดที่ได้จาก ดร.ตั้วทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น กับเลขที่ออกมา …” และ“….สำหรับเลขยอดนิยมที่ประชาชนแห่แทงหวยบนดินกันมากในงวดวันที่ 16 มี.ค.(2547) ซึ่งเป็นเลขที่ได้มาจากเลขเด็ดของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ผู้ก่อตั้งองค์การเภสัชกรรม[16] ….”
ดังนั้น ศิลปกรรมของอนุสาวรีย์ ดร. ตั้ว ลพานุกรม รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น่าสนใจว่า กรรม หรือการกระทำการสร้างความหมายให้แก่ศิลปะชิ้นนี้ จะเป็นตัวแทนความรู้ ความจริง อำนาจของวิทยาศาสตร์โดยผ่านอนุสาวรีย์ รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือในทางตรงกันข้าม ผลงานทางศิลปะประติมากรรม และความเชื่อ ผสมปนเป ย้อนแย้งกันไป
เพราะ สภาวะผิดปกติ กับความคิดทางวิทยาศาสตร์ กลับถูกทำให้กลายเป็นสภาวะปกติได้ โดยตามข้อสังเกตเกี่ยวกับว่า ที่มาของตัวเลขหวยเด็ดๆ ขึ้นมา และอนุสาวรีย์ ดร.ตั้ว อาจจะสะท้อนผู้รับสารต่ออนุสาวรีย์ ให้เห็นวิธีคิดของประชาชน นักเลงหวย ชาวบ้านในอนาคต.

เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็จะต้องอ้างอิงบริบทของประวัติศาสตร์ พงศาวดาร เอกสาร และหลักฐานทางศิลปะ ต่างๆ ซึ่งนำมาสู่พื้นฐานของการอธิบาย ว่าด้วยบททดลองนำเสนอ ว่าด้วยอนุสาวรีย์ในมุมมองสตรีนิยม กรณีท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาปรีดี คณะราษฎร สายพลเรือน โดยการเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์ พูนศุข พนมยงค์ สืบต่อภาพสะท้อนว่าด้วยคำสั่งการจัดพิธีไว้อาลัย การจัดพิธีไว้อาลัยเป็นไปตามคำสั่งเสียทุกประการ ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุข ได้เขียน "คำสั่ง" กำชับ ด้วยลายมือตนเอง[17] จะมีความน่าจะเป็นไปได้ ในการต่อสู้เพื่อให้เกิดอนุสาวรีย์ขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงความหมายของศิลปะ ตั้งแต่ยุคจิตร ภูมิศักดิ์ เสนอศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ซึ่งเขาเสียชีวิต ในปีพ.ศ.2505 และต่อมากว่าจะมีคนสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งถ้าเรามองว่า อนุสาวรีย์ปรีดี-ตั้ว และพูนศุข ถือว่าเป็นชนชั้นนำ หรือสามัญชน ก็ได้ โดยเราก็มีการสร้างศิลปกรรม คือ อนุสาวรีย์เพื่อสามัญชน เช่น อนุสาวรีย์ สืบ นาคะเสถียร เจริญ วัดอักษร[18] ฯลฯ เป็นต้น
ดังนั้น การสร้างอนุสาวรีย์ช่วยให้คนจดจำได้ ถ้าจะสร้างอนุสาวรีย์แท็กซี่ กับรถถัง ยกตัวอย่างกรณีลุงนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ ในปี2549 ก่อนถูกลืมเลือน เมื่อจะมีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อให้รับรู้ทางศิลปะ และการสร้างสรรค์ให้แก่ความรู้ในทางศิลปะ โดยการสร้างอนุสาวรีย์ จะให้มีพลัง และอำนาจของศิลปกรรม ก็ต้องมาจากการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองด้วย


*บทความแก้ไข และปรับปรุงเพิ่มเติมของผู้เขียน จากการเสวนา: ศิลปะกับการเมือง : มุมมองว่าด้วย รสนิยม ชนชั้น ประวัติศาสตร์ และการตีความ เวลา/สถานที่ 13.00 – 15.00 น. วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2551 ณ ร้านเล่า ถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยองค์กรร่วมจัด ปรส.- ประชาไท-โลคัลทอล์ค

1.ดู นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475
2.ดู ชาตรี ประกิตนนทการ การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม: สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม และดูคำนิยามของชาตรี ว่าศิลปะคณะราษฎร ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน และที่เรียกว่า ศิลปกรรม โปรดดูหนังสือเพิ่มเติม “ศิลปกรรมหลัง พ.ศ. 2475”
3.ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ 24 มิถุนา ในขบวนการ 14 ตุลาฯ:การเมืองและอำนาจของประวัติศาสตร์ ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ สู่ทศวรรษที่ 7 ปฏิวัติ 2475 สถาปนา มธก. 2477 ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่ = Thammasat University and the space of politics in Thailand 1932-2004
4.จิตร ภูมิศักดิ์ มองว่าเป็นขุนศึกศักดินา ซึ่งการนำเสนอ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” คือ ต้นธารความคิดของดนตรี วรรณกรรม ศิลปะ มีอิทธิพลต่อมายุค 14 ตุลา 2516 และ เคร็ก เจ. เรย์โนลดส์ เขียน ; อัญชลี สุสายัณห์, แปล ความคิดแหวกแนวของไทย : จิตร ภูมิศักดิ์และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน และ อรรคพล สาตุ้ม “หลังสมัยจิตร ภูมิศักดิ์ การช่วงชิงคำนิยาม ศิลปะ ใน จุลสาร Small ฉบับที่ 6(ฉบับพิเศษ) ประจำเดือนตุลาคม 2547
5.ข้อมูลหลัก และแนวทางการศึกษาอนุสาวรีย์ปรีดี ผู้เขียนนำบางส่วนมาจาก มรกต เจวจินดา ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475 - 2526 = The Images of Pridi Banomyong and Thai politics, 1932-1983
6.ผู้เขียน บทความเรื่อง สัตว์การเมือง ร่วมกับคนอื่นๆ ในปีพ.ศ. 2514 ดูเพิ่มเติมความคิดเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง : รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา และดูเพิ่มเติมเรื่อง ชัยอนันต์ สมุทวณิช กับการปฏิรูปการเมืองไทย(ตอนที่หนึ่ง)
ที่มา http://www2.hawaii.edu/~porntawe/thaiarticles/rangsun01/2547_02_25.html
7.ดูเพิ่มเติม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “สมัคร สุนทรเวช กับถนนปรีดี”
http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=7548&pid=63954&mode=threaded&show=&st=& และ http://board.dserver.org/t/thaibuild/00004281.html
8.ดู สุพจน์ ด่านตระกูล ความจริงที่หายไปจากหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ร.๘ ออกใหม่ ๓ เล่ม เป็นต้น
9.เพิ่งอ้าง สุพจน์ ด่านตระกูล และที่มาอีกแหล่งhttp://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=2353&mode=threaded&pid=10200 และคำไว้อาลัยของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, จากหนังสืองานศพคุณชูเชื้อ(วลี)สิงหเสนี
http://www.sameskybooks.org/board/index.php?s=ae48b2afa7ede424a5320bdd43125eb5&showtopic=8743&st=0&p=79158&#entry79158
10.ดุษฎี พนมยงค์ เล่าเรื่องความสัมพันธ์ 'ปัญญานันทภิกขุ-ปรีดี พนมยงค์' http://www.matichon.co.th/news/news_detail.php?id=8623 และที่มาของข้อมูลตามตาราง พัชรินทร์ สิรสุนทร เอกสารประกอบการบรรยายรายวิชา ปรัชญาชีวิต : หัวข้อการบรรยาย ปรัชญาชาวบ้าน http://www.social.nu.ac.th/learn_more/lift/01.doc
11.ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ช่วยเหลือกิจการงานของจอมพล ป. เป็นผู้บุกเบิกงานด้านสังคมสงเคราะห์ และงานพัฒนากิจการสตรีไทย เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สภาสตรีแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2497 ริเริ่มจัดตั้งโรงพยาบาลสงเคราะห์หญิงมีครรภ์และบุตร ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลราชวิถี
12.ข้อมูลการศึกษาเบื้องต้น ที่มา http://www.geocities.com/artillcent_rta/artill/monument1.htm อนุสาวรีย์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และหนังสือข้อมูลน่าสนใจ บันทึกการสัมมนา จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่ เป็นต้น
13.อ้างแล้ว มรกต เจวจินดา โดยผู้เขียนใช้เป็นข้อมูลหลัก
14.สายพิณ แก้วงามประเสริฐ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และ มานิตย์ นวลละออ การเมืองไทยยุคสัญลักษณรัฐไทย และชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ความเงียบของอนุสาวรีย์ลูกปืน : ดุซงญอ-นราธิวาส,๒๔๙๑ และพิบูลย์ หัตถกิจโกศล อนุสาวรีย์ไทย:การศึกษาในเชิงการเมือง และนิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ และ มาลินี คุ้มสุภา นัยทางการเมืองของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในสังคมไทย(หรือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น) และเครก เจ เรย์โนลด์ ปูชนีย์แห่งอัตลักษณ์ ในฐานะแหล่งชุมนุมประท้วง : เปรียบเทียบพม่ากับไทย วารุณี โอสถารมย์ (แปล) จุลสารไทยคดีศึกษา และ Thongchai Winichakul “Thai Democracy in Public Memory : Monuments of Democracy an their Narrative และThak Chaloemtiarana Towards a More Incusive National Narrative : Thai History and the chiness : Isan and the Nation State และ อรรคพล สาตุ้ม ปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม “ปราสาทเขาพระวิหาร-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” http://www.prachatai.com/05web/th/home/12834เป็นต้น
15.อรรคพล สาตุ้ม ย้อนดูภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’: สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม” (ตอนที่1- 3) http://www.prachatai.com/05web/th/home/10753
16.ที่มา http://61.19.46.190/school/main1/science/thour.html และแจ็กพอตหวยเริ่มงวด1เม.ย. (2547) http://www.deedeejang.com/news/news/00177.html และที่มาของอนุสาวรีย์ ดร.ตั้ว ลพานุกร http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/2550_55_173_P1_2.pdf
17.ที่มา http://th.wikipedia.org/ พูนศุข พนมยงค์ และดู อรรคพล สาตุ้ม อ้างแล้ว เรื่องบทบาททางการเมือง ช่วยเหลือเสรีไทย ถอดรหัสข้อความ เป็นต้น
18.ดูข้อมูลเพิ่มเติม อนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=printpage&artid=581 และth.wikipedia.org/wiki/สืบ_นาคะเสถียร และอนุสาวรีย์ เจริญ วัดอักษร th.wikipedia.org/wiki/เจริญ_วัดอักษร http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999636.html และอนุสรณ์สถาน ผาจิ เป็นสัญลักษณ์รวมกลุ่ม พคท. คือนักศึกษา ชาติพันธุ์ม้ง ชาวนา เปิดปี 2549 และส่วนที่เชียงใหม่ : มีการเสนอสร้างอนุสาวรีย์ จรัล มโนเพ็ชร เป็นต้น และข้อมูล th.wikipedia.org/wiki/นวมทอง_ไพรวัลย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น