วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อชาวขมุระหว่างแม่น้ำโขงตอนบน ไทย-ลาว

ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อชาวขมุระหว่างแม่น้ำโขงตอนบน ไทย-ลาว
นาย อรรคพล สาตุ้ม

บทนำ : ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อชาวขมุระหว่างแม่น้ำโขงนี้ กล่าวถึงปัญหา 4 ประการ ดังนี้ 1) การเปลี่ยนแปลงของขมุชายแดนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2) ผลกระทบของการพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์ ที่มีผลต่อชาวขมุ 3) การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวขมุ 4) ทางเลือกของการพัฒนาชาวขมุ วิธีการศึกษาโดยการเก็บข้อมูลเอกสาร และข้อมูลภาคสนาม มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ในพื้นที่ บ้านป่าอ้อย ห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว


บริบทความสำคัญของขมุทางประวัติศาสตร์ระหว่างแม่น้ำโขงตอนบนไทย-ลาว
ชาวขมุมีถิ่นฐานอยู่ตามบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตลอดชายแดนไทย-ลาว ชาวขมุเป็นชนชาติเก่าแก่กลุ่มหนึ่งของภูมิภาคอุษาคเนย์ และอาจจะเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ มาก่อน กลุ่มอื่นๆ เช่น ก่อนที่กลุ่มคนในตระกูลไทย-ลาว จะเคลื่อนย้ายเข้ามาและน่าจะมีส่วนเป็นเจ้าของวัฒนธรรมการถลุงเหล็ก และการสลักหินยุคแรกๆด้วย และขมุ ถือว่าเป็นชาติพันธุ์กลุ่มย่อยของชาวข่า ข่าฮัด ข่าฮอก ข่าเม็ด ข่าหมุ(ขมุ)
ดังนั้นขมุเป็นกลุ่มชน ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะของความเป็นชนชาติของขมุเองและในฐานะที่เป็นกลุ่มที่คงวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ที่มีความเป็นดึกดำบรรพ์อยู่อย่างเด่นชัด คือ ความเป็นมนุษย์ที่ยังเคารพผู้อาวุโสที่เป็นแหล่งของประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และมีความถ่อมตนที่ไม่ได้ เคยคิดว่ามนุษย์ยิ่งใหญ่ มีอำนาจกว่าธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่ร่วมกัน แต่มีความรักเอื้ออาทร ที่มีพื้นฐานว่า มนุษย์ต้องช่วยเหลือกัน ต้องอยู่ร่วมกัน ต้องแบ่งปันกัน และไม่เคยลืมอดีตดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ

การรับรู้ศึกษาเรื่องราววิถีชีวิตของขมุ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง หากเราต้องการเข้าใจความเป็นมาของวัฒนธรรมไทยและของกลุ่มอื่นๆในอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ปราณี วงษ์เทศ,2543)ชาวขมุถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร มีชื่อทางชาติพันธุ์วิทยาว่า “ออสโตรเอเชียติก”(เสถียร ฉันทะ,2547)เรื่องเล่าและตำนานของขมุว่าครั้งหนึ่งขมุเป็นกลุ่มที่มีความยิ่งใหญ่และเคยสร้างเมืองเป็นหลักแหล่งของตนเอง ซึ่งคนลาวทางตะวันออกถือว่าขมุเป็นกลุ่มที่มีความยิ่งใหญ่และเคยสร้างเมืองเป็นหลักแหล่งของตนเอง ดังนั้นขมุเป็นต้นตระกูลของผู้คนในท้องถิ่นนั้นมาก่อน และมีอำนาจอยู่เหนือภูตผีวิญญาณทั้งหลาย ชาวขมุมีบทบาทสำคัญในการประกอบพิธีกรรมบางอย่างในราชสำนักหลวงพระบาง จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานและรวบรวมเรื่องราวของขมุเอาไว้ว่า ชาวข่าหมุ เรียกตัวเองว่า “ขมุ” หมายถึง ความเป็นคน

แต่ก็มีการถกเถียงเรื่องนี้ของความหมาย เช่น ต้องเรียกกำมุ ไม่ใช่ขมุ คนกำมุไม่พอใจที่ใครเรียกขมุ ถือเป็นคำเรียกดูถูกทางชาติพันธุ์ เพราะคำขมุมาจากข่ามุ หมายถึงขี้ข้า แต่กำมุเป็นคำเรียกตัวเองหมายถึงคน) เพื่อยกระดับคุณค่าศักดิ์ศรีของกลุ่มชาติพันธุ์และการตอบโต้การดูถูกเหยียดหยามเพื่อนำไปเป็นข่า จากหลักฐานดังกล่าวจึงพอคาดคะเนได้ว่า ขมุ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเขตสุวรรณภูมิหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมาตั้งแต่อดีตกาลก่อนหน้าจะสถาปนาอาณาจักรล้านช้างในปีพ.ศ.1896ของเจ้าฟ้างุ้ม บริเวณอาณาจักรที่ชื่อเมืองชวา หรือเซ่า บริเวณหลวงพระบาง กษัตริย์ทั้งหมด 35 องค์ และมีหลักฐานยืนยันกษัตริย์ลำดับที่ 9-12 เป็นชาวข่าหรือชาวขมุ จนกระทั่งเกิดยุครวมอาณาจักรล้านช้าง
กล่าวอย่างย่อๆในกลุ่มชาติพันธุ์ มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์กับความสัมพันธ์กันของไทย-ลาวนั้น มีความสืบเนื่องและการแลกเปลี่ยนกันในราชอาณาจักรล้านนา-ล้านช้าง-สยาม เมื่อมีการถูกคุมคามจากปัจจัยภายนอกของการล่าอาณานิคมและมีปัจจัยภายในที่ต้องพัฒนาประเทศของสองประเทศ ทำให้ชุมชนชายแดนถูกผนวกกลืนรวมในระดับความสัมพันธ์ภายใต้ประเทศ และแบ่งแยกออกจากกัน ในช่วงนั้นฝรั่งเศสเข้าปกครองลาว ฝรั่งเศสเลือกให้เวียงจันทน์เป็นศูนย์กลางด้านการปกครอง และผู้ปกครองเป็นคนฝรั่งเศสจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ให้คนเวียดนามเป็นผู้ปกครอง รวมถึงอพยพคนเวียดนามเข้ามาทำนาในลาว พวกลาวส่วนใหญ่ยอมรับสภาพของตน
แต่โดยดีแม้จะถูกกดดันไม่น้อยจากพวกเวียดนามอพยพ การเก็บภาษี และการเกณฑ์แรงงานของฝรั่งเศส กลุ่มชาตินิยมที่ต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส ส่วนใหญ่เป็นพวกลาว-เทิง(ดังนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ เพราะคำนี้รัฐบาลลาวใช้เรียกขมุ ว่าลาวเทิง คือลาวบนที่สูง และนโยบายรวมพวกกลุ่มชาติพันธุ์ของรัฐบาลลาว)(สุวิไล เปรมศรีรัตน์,2541)กับเวียดนามตามเมืองใหญ่ๆ แต่ชาวเวียดนามก็ทำไปเพื่อเอกราชของชาติตนโดยเฉพาะในใจก็หมายมั่นว่าจะยึดเอาลาวและกัมพูชามาเป็นของตนให้ได้ในอนาคต
มีชาวลาวลุ่มเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ให้ความสนใจกับการก่อตั้งขบวนการชาตินิยมของเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชนชั้นปกครองที่ถูกส่งตัวไปศึกษาที่ฮานอยและไซ่ง่อน ลัทธิคอมมิวนิสต์ยังจำกัดวงแคบอยู่ในหมู่ชาวเวียดนามผู้ศรัทธาในโฮจิมินห์ และต้องเผชิญการปราบปรามจากหน่วยรักษาความมั่นคงของฝรั่งเศสอยู่เนืองๆ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้การนำของเวียดนาม โดยมีชาวลาวแท้ๆเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เข้าร่วมขบวนการตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ลาวและกัมพูชา,2544)และไทยตกอยู่ภายใต้กึ่งอาณานิคม หรือรัฐกันชน การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475 และลาวที่ขาดการติดต่อกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของลาวทำให้มีปัญหาแนวพรมแดนได้มีผลต่อแม่น้ำโขงและปัญหาชายแดนสืบต่อมาถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีหลวงวิจิตรวาทการ ผลิตซ้ำปัญหาการนิยามพรมแดนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีนโยบายเน้นความมั่นคง

จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่2 ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงกิจการต่างๆของอินโดจีนกองทัพไทยภายใต้การนำของหลวงพิบูลสงครามได้ทำศึกกับฝรั่งเศสในอินโดจีนหลายครั้งเพื่อชิงแดนแขวงจำปาศักดิ์กับไชยะบุรีบนฝั่งตะวันตกกลับคืนมา ขณะที่การสู้รบทางบกยังไม่ชี้ขาด(ทางน้ำไทยแพ้)ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงและเสนอให้มีการพักรบเพื่อเจรจาตกลงกัน ส่งผลให้ฝรั่งเศสต้องยอมยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงกลับคืนให้ไทย แม้จะเสียหน้าอยู่บ้าง แต่ฝรั่งเศสยังได้ชื่อว่าครองอำนาจอยู่ในอินโดจีนต่อมาอีกสี่ปี ญี่ปุ่นเห็นถึงลางแพ้ของฝ่ายตน จึงได้บังคับให้เจ้าศรีสว่างวงศ์ประกาศเอกราช

หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝรั่งเศสก็เข้ามาเผชิญกับการต่อต้านจากเจ้าอุปราชเพชราช นายกรัฐมนตรีในยุคสงครามและขบวนการ ลาวอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสกับญี่ปุ่นอย่างหนัก คณะรัฐบาลของขบวนการลาวอิสระได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดมินห์ของโฮจิมินห์ได้พยายามก่อตั้งระบบการบริหารประเทศที่ทรงประสิทธิภาพขึ้น เจ้าสุภานุวงศ์ (เจ้าชายแดง)พระอนุชาต่างมารดาของเจ้าอุปราชเพชราชทรงก่อตั้งแนวร่วมลาวรักชาติขึ้น และทางการเจรจาต่อรองกับฝรั่งเศส แต่ก็เปล่าประโยชน์ฝรั่งเศสเคลื่อนกำลังขึ้นเหนือ ขบวนการลาวอิสระซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพวกเวียดนาม พยายามก่อการขึ้นที่เมืองท่าแขก แต่กลับถูกฝรั่งเศสโอบล้อมโจมตีจนแตกพ่าย แม้จะกลับมาเป็นของฝรั่งเศสอีกครั้ง แต่ฝรั่งเศสก็ยอมอ่อนข้อมอบสิทธิในการปกครองตนเองให้กับลาว ส่งผลให้ขบวนการลาวอิสระแตกแยกออกเป็นหลายฝ่าย


ฝ่ายแรกเจ้าเพชราช ซึ่งเสด็จหนีมาตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นขึ้นที่กรุงเทพฯ ฝ่ายที่สองคือเจ้าสุภานุวงศ์ ซึ่งมีสัมพันธ์แนบแน่นกับโฮจิมินห์และคอมมิวนิสต์เวียดนาม ฝ่ายที่สามนำโดยเจ้าสุวรรณภูมาซึ่งเข้าข้างฝรั่งเศส ส่งผลให้ฝรั่งเศสต้องดำเนินการทุกอย่างโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากขบวนการลาวอิสระ ครั้นปีพ.ศ.2492 ลาวก็มีฐานะเป็น สหพันธรัฐเอกราช ในสหภาพฝรั่งเศส ขบวนการลาวอิสระล่มสลายหนึ่งปีต่อมาเจ้าสุภานุวงศ์ทรงประกาศก่อตั้ง แนวร่วมลาวรักชาติ ขึ้นใหม่และได้พัฒนาขึ้นมาเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ประเทศลาว หลังฝรั่งเศสถอนกำลังออก พ.ศ. 2496 สหรัฐซึ่งหวั่นเกรงว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะขยายอิทธิพล จึงทำการแทรกแซงส่งเงินช่วยเหลือรัฐบาลฝ่ายขวาในนครเวียงจันทน์ ในขณะที่ขบวนการประเทศลาวได้ตั้งฐานที่มั่นขึ้น ที่แขวงหัวพันกับพงสาลีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเมืองและการทหารในช่วงหลายปีต่อมา มีแต่ความสับสนวุ่นวาย เริ่มตั้งแต่ยุครัฐบาลผสมปีพ.ศ.2503 ตามมาด้วยการก่อรัฐประหารและรัฐประหารเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารทั้งของฝ่ายเป็นกลางและฝ่ายขวาหลายครั้ง

จนกระทั่งพ.ศ.2507 ขบวนการประเทศลาวก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมเจรจาใดๆด้วยอย่างสิ้นเชิง เพราะเชื่อว่ามีแต่การใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจนั้น จึงจะเป็นทางแก้ที่ได้ผลดีที่สุด ช่วงปี พ.ศ.2507-2516 แม้พื้นที่ยึดครองของขบวนการประเทศลาวจะถูกระดมทิ้งระเบิดจากฝูงบินสหรัฐฯอย่างหนัก แต่ก็ยังยืนหยัดสู้รบขยายพื้นที่ต่อไปโดยไม่ย่อท้อ เมื่อสหรัฐถอนตัวจากสงครามเวียดนาม ปี พ.ศ.2516จึงมีการเจรจาหยุดยิงในลาว โดยขบวนการประเทศลาวมีอำนาจต่อรองมากที่สุด ในที่สุด ปีพ.ศ.2518 จึงสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ช่วงห้าปีต่อมาลาวได้นำนโยบายคอมมิวนิสต์มาใช้อย่างเข้มงวด ทั้งการควบคุมพระพุทธศาสนา การตัดสัมพันธ์กับไทย และการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามชนกลุ่มน้อยเผ่าม้ง(กลุ่มชาติพันธุ์ ที่เรียกว่า ลาวสูง) ผู้ปฏิเสธไม่ยอมวางอาวุธและไม่ยอมรับอำนาจของทางการ มีราษฎร์หลายหมื่นคนถูกจับกุมและส่งตัวไป รับการอบรม ยังค่ายสัมมนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ลาวและกัมพูชา,2544)

อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์ ลาวเทิง-ชาวขมุ เคยมีความสำคัญได้ปรากฏตัวตน ในฐานะกลุ่มชาตินิยม ที่ต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส (เจ้าอาณานิคม) แต่ขมุกลับมีอำนาจหดหายลงเรื่อยๆจากประวัติศาสตร์ แทนที่จะพัฒนาการต่อเนื่อง และสะท้อนตัวตนของขมุเอง ดังกล่าวของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เป็นต้น ส่วนปัญหาอื่นๆในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลง สปป.ลาว ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง คือการตัดความช่วยเหลือ และการปิดล้อมทางเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตกประกอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเสียหายของสงคราม รวมทั้งการสูญเสียบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่อพยพลี้ภัยไปต่างประเทศจำนวนมาก แต่รัฐบาลใหม่ของสปป.ลาว ก็มีความพยายามอย่างมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังสงครามในช่วงปี พ.ศ.2521-2523 และมีการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5ปี ฉบับแรกในปีพ.ศ.2524-2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลาวสามารถพึ่งตนเองได้ในด้านอาหาร และความเป็นอยู่พื้นฐานต่างๆรวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเส้นทางคมนาคมสายหลักในประเทศ พัฒนาการแจกจ่ายกระแสไฟฟ้า และพัฒนาอุตสาหกรรม

บริบทการเปลี่ยนแปลงของขมุชายแดนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุการณ์ประเทศสปป.ลาวใช้ระบบเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น ทำให้เศรษฐกิจของชาติขยายตัวช้า และไม่สม่ำเสมอ สืบเนื่องมาจากสาเหตุภายในที่กล่าวมานั้น ก็ยังมีปัจจัยที่เกิดจากภายนอกที่เกิดจากสถานการณ์โลกอีก โดยเฉพาะเหตุการณ์การปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศสหภาพโซเวียตโดยอาศัยหลักเปเรสตอยก้า และกลาสน๊อสในปี พ.ศ.2528 มีผลกระทบต่อนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของสปป.ลาวอย่างมาก เพราะลาวจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากประเทศในยุโรปตะวันออกและประเทศสหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก ทำให้พรรคประชาชนปฏิวัติลาวจึงต้องมีการกำหนดแนวทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยผ่านการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 4 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2529 ได้มีมติรับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5ปี ฉบับที่2(2529-2533)และรับนโยบายพัฒนาประเทศตามนโยบาย จินตนาการใหม่ หรือกลไกเศรษฐกิจใหม่(New Economic Mechanism:NEM)(สุรชัย ศิริไกร,2541)
สภาพการณ์ของประเทศลาว ในปีพ.ศ.2532 นับเป็นปีที่ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ที่ตกต่ำและมาตรฐาน การดำรงชีวิตที่ต่ำ ซึ่งปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป ตามเมืองสำคัญต่างๆไม่ว่าจะเป็นปากเซ เวียงจันทน์ และหลวงพระบาง ปีพ.ศ.2532 นับเป็นปีที่2 ที่รัฐบาลนำนโยบายจินตนาการใหม่ มาใช้อย่างจริงจังในทางการเมืองระหว่างประเทศ นับเป็นปีที่ลาวเริ่มเปิดประตูสู่โลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโลกตะวันตก ผู้นำลาวข้ามแม่น้ำโขงมาเยือนไทย และเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจแห่งเอเชีย เดินทางไปเยือนจีน และฝรั่งเศส เพื่อแสวงหาความร่วมมือและความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตก นโยบายจินตนาการเริ่มส่งผลมีการจัดระเบียบและข้อกำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ๆเกี่ยวกับการค้า โครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานหลายๆโครงการได้บรรลุผลสำเร็จ มีนักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศไทยได้เข้าไปลงทุนในลาว ถนนทุกสายมุ่งสู่เวียงจันทน์(มานะ มาลาเพชร,2533)

ในด้านการเมืองระหว่างประเทศปีนี้นับเป็นปีแรกที่ลาวเริ่มดำเนินการทางการทูต เพื่อขยายความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศนอกค่าย สังคมนิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทย และสหรัฐอเมริกา เพื่อสนองตอบต่อความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งได้กระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ด้วย ความสัมพันธ์ไทย-ลาว ได้รับการสานต่อโดยการเดินทางไปเยือนเวียงจันทน์ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

นโยบายจินตนาการใหม่กล่าวเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจแล้ว จินตนาการใหม่ หมายถึงการบริหารเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างบรรยากาศให้เอื้อประโยชน์ต่อทางการค้าการลงทุน การเปิดให้ธุรกิจของภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนนิติบุคคลมีอิสระในการตัดสินใจกำหนดแผนการประกอบกิจการของตน รับผิดชอบต่อการขาดทุน กำไร ตลอดจนการเสียภาษีให้กับรัฐ(สุนทร คันทะวงศ์,2543)

นับแต่ลาวเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยม นักธุรกิจไทย ได้ลงทุนในสปป.ลาว และลาวเสียดุลการค้าไทย เนื่องจากลาวต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยและวัสดุก่อสร้าง แนวทางในการลดการเสียเปรียบทางการค้าระหว่างลาว-ไทย คือการเพิ่มปริมาณการผลิตและการขายกระแสไฟฟ้าแก่ไทย รัฐบาลลาวมีโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงและโครงการ22สาขาเพื่อขายกระแสไฟฟ้าแก่ไทยและเวียดนามโดยร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติและโดยการสนับสนุนจากADB(สนมพรรณ วรวิเชียรวงษ์,2544 )
การเปลี่ยนผ่านกลไกเศรษฐกิจใหม่ ทำให้สถานะเข้าถึงตลาดท้องถิ่นเพื่อสอดคล้องกับภาคบริการของลาวในท้องถิ่น เช่นเดียวกับมีศูนย์กลางโรงเรียนและสุขภาพ ทั้งศูนย์กลางการเมือง ลงทุนในสุขภาพ –การศึกษา ตลอดจนงบประมาณการใช้จ่ายต่างๆ อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงต่อทรัพยากรพื้นที่ การเติบโตในการใช้จ่ายซื้อสินค้าของพื้นที่พึ่งพิงกระแสภายนอกประเทศ และกลับมาในศูนย์กลางรัฐ ที่มีสินค้าราคาสูง กับการหาประตูช่องทางระบายสินค้าออกทางทะเล ทั้งหมดของนโยบายใหม่ทำให้เกินจริง ไม่ว่าจะเป็นภาษีอากร-รายได้ นักลงทุนได้ไหลเข้ามาในแหล่งทรัพยากรพบได้บ่อยกับป่าไม้ ตัดไม้ ส่งออกไม้ กำลังทำขึ้นประมาณ50 เปอร์เซ็นต์ เดินตามขายพลังงานน้ำและเสื้อผ้า ส่งออก จาก บริษัทต่างชาติ

การพัฒนาขายพลังงานและการมีประชาสังคม NGOs กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์กับภูมิภาค โลกาภิวัตน์ในกระบวนการขนส่งลาวสัมพันธ์กับโลกขนาดใหญ่และผลกระทบภูมิภาคด้วย ภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ ที่มีความสัมพันธ์ตั้งแต่พ.ศ.2523 มีการติดต่อ ประเทศไทย
ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลเศรษฐกิจเหนือพรรคคอมมิวนิสต์ลาว กังวลว่า การเติบโตของกระบวนการประชาธิปไตยไทย จะส่งผลต่อทางความคิดคนลาว รวมถึงความน่าชื่นชมทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางไทย อีกทั้งด้านการขนส่งสินค้าและปัจจัยส่งผลต่อประเทศลาวถูกครอบงำทางโทรทัศน์และการท่องเที่ยว(Grant Evans,2002) ซึ่งดังที่มีผลจากโครงสร้างของนโยบายในประเทศสปป.ลาวเอง ละเลยการสนับสนุนอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวขมุอย่างจริงจัง และผลกระทบจากประเทศไทย ในฐานะประเทศ ที่มีพรมแดนติดกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขมุชายแดน ท่ามกลางกระแสการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมขนส่งสินค้าแนวชายแดน ที่เข้ามาตามแนวชายแดนแม่น้ำโขงตอนบน

ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ ในนามของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ
หลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมรวมกลุ่มกันเข้าประกาศเขตการค้า และจับมือกันรื้อนโยบายที่เป็นอุปสรรคและกีดกันทางการค้า โลกถูกเชื่อมเข้าด้วยกันโดยการคมนาคมและการสื่อสาร พร้อมๆกับการแพร่ขยายและเชื่อมต่อวัฒนธรรมกันเข้าด้วยความซับซ้อน ทั้งหมดว่ากันว่าโลกกำลังจะจัดระเบียบใหม่ ที่อยู่ภายใต้โลกาภิวัตน์(ศุภชัย เจริญวงศ์,2536:1) นายกรัฐมนตรี ชาติชาย ชุณหะวัน เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า นายไกรสอน พรหมวิหาร อดีตนายกรัฐมนตรีตอบรับนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ นักลงทุนไทยทำการค้ากับสปป.ลาว สร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และยังเปิดฉากการทูตโดยนายกรัฐมนตรีเยี่ยมเยือนประเทศลาว และ พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี(สุภรัตน์ เชาวน์เกษม,2544)

การใช้นโยบายการต่างประเทศปูทางแก่นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยในภูมิภาคอินโดจีน รัฐบาลอานันท์ก็สนับสนุนการค้าเสรี ให้เป็นจริงมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการประสานนโยบายร่วมกันกับนานาประเทศในเอเชีย เพื่อผลักดันการสร้างเขตการค้าต่างๆโลกทั้งโลกกำลังถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันอย่างไร้พรมแดนกำแพงกีดขวางอีกต่อไปการจัดแบ่งปริมณฑลทั้งระดับโลก(สังคมนิยม-ประชาธิปไตย)และภูมิภาคโลก(รัฐชาติ-รัฐชาติ)

ในอีกแง่หนึ่งเส้นพรมแดนแบบเก่ากำลังลบหายไป พรมแดนที่เป็นอำนาจของรัฐชาติที่ขยายไปถึง ตัวของมันเองก็เป็นอำนาจด้วยพรมแดน จึงไม่ใช่องค์กรอิสระที่แยกตัวออกจากโครงสร้างสังคมอย่างสิ้นเชิง ในทางตรงข้ามกลับผูกติดเชื่อมกับสังคมอย่างแนบแน่น การก่อรูป การไหวตัว และเปลี่ยนแปลงพรมแดนในแต่ละครั้ง จึงหมายถึงภาพสะท้อนรูปลักษณ์หนึ่งและนโยบายการค้าเสรี หรือ เขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ทุน แรงงาน สินค้า และตลาด เปิดออกและโยกย้ายกันอย่างอิสระนั้น เมื่อด้านหนึ่งก็คือการก้าวข้ามพรมแดนชาติไปอย่างเสรี อีกด้านหนึ่งพรมแดนก็กำลังถูกลบเลือนไปโดยเฉพาะการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ(ศุภชัย เจริญวงศ์,2536)

พรมแดนเส้นแบ่งที่ลากผ่านไปบนพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เพื่อสร้างขอบเขตและเป็นสัญลักษณ์อำนาจของรัฐชาติ ซึ่งย่อมสัมพันธ์กับแม่น้ำโขง บนพื้นผิวโลกนี้ที่ประกอบด้วยภูเขาและ อื่นๆ นอกจากเป็นเส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์ยังถูกใช้เพื่อการตอกย้ำแบ่งเขาแบ่งเราในความรู้สึกคนที่มีอุดมการณ์ของชาตินิยม ครอบงำข้ามาด้วย และตอกย้ำด้วยความมั่นคงต่อการพัฒนาประเทศไทย จนเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพรมแดนชาติในโลกาภิวัตน์ ที่มีความร่วมมือทางภูมิภาคหรือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

ดังนั้น ในช่วงอดีตของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ สิ่งที่คนในแถบชายแดนทำได้ก็คือ ไม่เป็นศัตรูต่อกัน แต่ก็ไปมาหาสู่กันน้อยลง ขณะเดียวกัน ระบบวิทยุโทรทัศน์ และไฟฟ้าก็ยังมิได้แพร่หลายไปถึงบริเวณชายแดน การเผยแพร่วัฒนธรรมจากเมืองหลวง และวัฒนธรรมระดับโลกยังมีน้อย ผลก็คือวัฒนธรรมแบบชายแดนยังมีอยู่มาก 30กว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่วัฒนธรรมชายแดนจึงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างโดดเด่น ขณะที่วัฒนธรรมท้องถิ่นทั่วๆไปถูกวัฒนธรรมระดับโลกและระดับชาติครอบงำมากขึ้นตามลำดับ

ผลกระทบของการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจต่อวัฒนธรรมชายแดน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองระดับสากลส่งผลให้รัฐต่างๆเป็นศัตรูต่อกัน บริเวณชายแดนเหล่านี้จึงถูกตัดขาดจากการสื่อสารเป็นเวลานาน แต่สถานการณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนไปมากนับตั้งแต่ประเทศสังคมนิยมทั้งหลายหันมายอมรับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐประสบภาวะล้มละลาย พร้อมๆกับการเติบโตของพลังเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในรับที่หันหลังให้กับลัทธิสังคมนิยม จะเห็นได้ว่าปมเงื่อนของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ คือ การนำเอาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้าไปในบริเวณชายแดน การเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างขนานใหญ่หลังจากที่เคยใช้น้อยมาในอดีต เช่น การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทำให้เราพบว่าวัฒนธรรมระดับโลกและวัฒนธรรมระดับชาติเติบโตขึ้นมาก และได้เข้าไปมีบทบาทครอบงำวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกทำลาย หรือเปลี่ยนแปรเป็นวัฒนธรรมระดับชาติและระดับโลกมากขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษต่อไปนี้สำหรับดินแดนสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอันเป็นช่วงเวลาที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจจะได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ก็คือวัฒนธรรมโลก และวัฒนธรรมชาติจะแพร่ขยายรุกเข้าไปในบริเวณชายแดนอย่างมากมาย หลังจากที่เข้าครอบงำวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว (ธเนศร์ เจริญเมือง,2538)

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการแม่น้ำโขง ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจในแม่น้ำโขงด้วย เพราะ ประเทศสมาชิก ในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ก็อยู่ในคณะกรรมการแม่น้ำโขงที่มีปัญหาได้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ในประเทศแล้ว ก็กลับมาร่วมมือกันใหม่อีกครั้ง จนกระทั่งประเทศไทย เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจปีพ.ศ.2540 อันเนื่องมาจากค่าเงินบาทลอยตัว ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคนี้ เพราะนักลงทุนไทยได้เข้าไปเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน
หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ แม้ว่าผลกระทบของโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจต่อประเทศไทย จะมีผลกระทบทางบวกจะเป็นผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมีสภาพคล่องตัวมาก การส่งสินค้าออกและแลกเปลี่ยนสินค้า ใช้แรงงานต่างชาติ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม แต่ผลกระทบทางลบการแพร่ระบาดยาเสพติด ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาด้าน สาธารณสุขรวมถึงวัฒนธรรม(ม.ล.พันธุ์สูรย์ ลดาวัลย์, ศิริพงษ์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา,2540) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทั้งสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หกเหลี่ยมเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวก็ได้ส่งผลต่อแรงงานข้ามพรมแดนชาวขมุ แอบลักลอบ เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งผลกระทบทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงได้จากตัวอย่างของชาวขมุในแขวงบ่อแก้วและเมืองห้วยทราย บ้านป่าอ้อย

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวขมุในแขวงบ่อแก้ว และเมืองห้วยทราย บ้านป่าอ้อย แขวงบ่อแก้ว
แขวงบ่อแก้วเป็นแขวงที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อปี 2526 แบ่งเขตการปกครองเป็น 5 เมือง คือ เมืองห้วยทราย เมืองต้นผึ้ง เมืองเมิง เมืองผาอุดม และเมืองปากทา มี425 หมู่บ้านสภาพเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของแขวงบ่อแก้ว อาศัยการผลิตภาคเกษตรเป็นหลัก ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ พืชสำคัญได้แก่ ข้าวเหนียว ข้าวโพด ยาสูบ กะหล่ำปลี ผักกาด เขียวปลี และถั่วเหลือง การผลิตส่วนใหญ่เพื่อการยังชีพ เหลือจำหน่ายเพียงเล็กน้อย ทางด้านการค้า ส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดนกับไทย ระหว่างเมืองห้วยทรายกับอำเภอเมืองเชียงของ และสินค้าส่วนใหญ่เพื่อการใช้ภายในแขวงเท่านั้น แต่ในช่วง 3ปีที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาล สปป.ลาว มีนโยบายเปิดประเทศเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น และผ่อนคลายให้ประชาชนค้าขายได้เสรี ทำให้เศรษฐกิจของแขวงบ่อแก้วเปลี่ยนแปลงไปมาก กล่าวคือ การขนส่ง และการท่องเที่ยว การลงทุนขยายตัวมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากไทยเข้าไปลงทุนกิจการประเภทไม้แปรรูป เหมืองแร่ และการก่อสร้างต่างๆ (ปัญหาการค้า ชาย แดนไทย-ลาว;นครพนม-คำมวน-และเชียงราย-บ่อแก้ว,2539)

เมืองห้วยทราย
เมืองห้วยทรายอยู่ในแขวงบ่อแก้ว ซึ่งแขวงบ่อแก้วตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลาว มีพื้นที่ตอนบนติดกับชายแดนพม่า และพื้นที่บางส่วนติดแม่น้ำโขงโดยเฉพาะเมืองห้วยทรายตั้งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เมืองต้นผึ้ง ตั้งอยู่ตรงข้าม อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พื้นที่ส่วนใหญ่ในแขวงบ่อแก้วเป็นภูเขาสูงและพื้นที่ราบในหุบเขาประมาณ 7,620 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 110,000คน กระจัดกระจายอาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำนา และหาของป่ามาขาย(ปารวี ไพบูลย์ยิ่ง,2545)

เมืองห้วยทราย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับอำเภอเชียงของไทย ปัจจุบันเป็นจุดผ่านแดนที่นักท่องเที่ยวจากฝั่งไทยนิยมข้ามไปมาก แม้ที่นี่จะไม่มีแผนกวีซ่าเปิดให้บริการเหมือนที่เวียงจันทน์กับหลวงพระบาง แต่เกสต์ฮาวส์กับโรงแรม ร้านค้า หลังจากที่มีการเปิดจุดผ่านแดนขึ้นที่นี่ เศรษฐกิจก็ดีขึ้นทันตา ซ้ำยังลือว่ามีการวางแผนจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง และปรับปรุงถนนสายห้วยทราย-หลวงน้ำทาขึ้นใหม่อีกด้วย โครงการดังกล่าวจะส่งผลให้สามารถเดินทางจากจีนมาถึงกรุงเทพฯได้โดยทางรถยนต์ ฝ่ายไทยกับจีนจึงกระตือรือร้นสนใจโครงการนี้กันมาก แต่ลาวก็ยังกังวลและต้องการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดตามมาเสียก่อน แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี1997 ก็อาจทำให้ลาวต้องหยิบยกโครงการนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่

แต่เดิมห้วยทรายเป็นเมืองเล็กๆที่มีผู้คนอยู่เพียง 3- 4พันกว่าคน เท่านั้น ในตัวเมือง มี “เฮือนพัก”หรือเกสต์เฮาส์เพียง 2-3 แห่ง สำหรับนักเดินทางที่เข้ามาท่องเที่ยวเท่านั้น กระทั่งปีพ.ศ.2540-41 รัฐบาลลาวมีแผนส่งเสริมปีการท่องเที่ยวภายในประเทศลาว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเยือนลาวเพิ่มขึ้น ผลพวงจากการท่องเที่ยวนี้เอง ปลุกให้ห้วยทรายที่เคยเป็นเมืองเล็กๆสงบเงียบ กลายเป็นเมืองที่คึกคักเต็มไปด้วยนักเดินทางจากทุกสารทิศ ชาวเมืองห้วยทรายที่เคยใช้ชีวิตเรียบง่าย สุขสงบ ค้าขายเล็กๆน้อยๆ ตามประสาชาวบ้าน ทุกวันนี้ต่างหันมายึดอาชีพธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวกันมากขึ้น ผลจากการที่ลาวเปิดประเทศรับปีการท่องเที่ยวเมื่อ5 ปีก่อน ทำให้การหาที่พักในเมืองห้วยทรายในทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เกสต์เฮาส์ผุดขึ้นมากมายราวดอกเห็ด ห้วยทราย ในวันนี้จึงเป็นทั้งเมืองประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยว ที่เต็มไปด้วยนักเดินทาง(ปารวี ไพบูลย์ยิ่ง,2545)

อย่างไรก็ตามกระแสของการพัฒนาทั้งสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หกเหลี่ยมเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่ต้องปรับตัวตามกลไกองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(Asian Development Bank-ADB) มีนิยาม สร้างความหมายของการพัฒนาเพิ่มขึ้น หลังจากได้กล่าวถึงข้อสังเกตข้างต้นในระดับชาติแล้ว จวบจนถึงบ้านป่าอ้อย เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ดังกล่าว ที่มีเงื่อนไขของประวัติศาสตร์การเปิดด่านการค้าขาย การเข้ามาค้าขายของคนจีนในห้วยทรายและการค้าขายกันของห้วยทรายกับเชียงของ

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมจากภายในชุมชน ทำให้มีการถางไร่แสวงหาที่ดินทำกินทำให้ผสมชนเผ่าในเขตชุมชนเมืองประชาชนปรับเปลี่ยนอาชีพทางเกษตรเพื่อยังชีพเป็นพนักงานรัฐ ประกอบการธุรกิจค้าขาย ปัจจัยภายนอกจากเศรษฐกิจการเมืองสังคม และการศึกษา อีกทั้งสื่อสารมวลชน ความเจริญและเทคโนโลยีการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารในยุคโลกาภิวัตน์ ชุมชน ปรับวิถีการผลิตจากยังชีพมาผลิตเพื่อบริโภคและขายผลผลิต รับข้อมูลข่าวสารโทรทัศน์มีการเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตพิธีกรรมและความเชื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ห้ามประกอบพิธีกรรมความเชื่องมงาย(ประชัน รักพงษ์,2539)
แต่กระแสนิยมทันสมัยกำลังเข้ามามีอิทธิพลมากกว่า เช่น การนำเข้าสินค้าไทยของคนลาวในห้วยทราย รถเครื่องรุ่นใหม่ แต่ละบ้านมีเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทุกชนิดตลอดทั้งวัน วัยรุ่นหันมาแต่งกายตามสมัยตะวันตก กินข้าวนึ่งจิ้มแจ่วสลับอาหารจานด่วนประเภทข้าวผัด ราดหน้าในชีวิตประจำวัน หลายตัวอย่างที่กล่าวถึงสะท้อนภาพชีวิตที่ได้รับอิทธิพลบางส่วนจากไทยไม่มากก็น้อย ผลจากการเปิดประเทศของลาว นับว่ามีส่วนผลักดันให้วิถีชีวิตของเมืองตะเข็บชายแดนอย่างห้วยทรายเปลี่ยนไปเช่นกัน ชาวขมุได้ปรับตัวตามชุมชนดังกล่าว มีโทรทัศน์ วิทยุ เกือบสูญเสียอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ เมื่อชาวขมุต้องลงมาอยู่ตามชุมชนเขตเมือง และชาวขมุก็ต้องเลิกพิธีกรรมบางส่วนตามนโยบายของรัฐ และการเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิต และวัฒนธรรม

ปัจจุบันชุมชนของแต่ละเมืองในแขวงบ่อแก้วเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยรับเอาความรู้ วิทยาการสมัยใหม่มาใช้ รู้จักเปลี่ยนวิธีผลิตทางด้านเกษตรจากการใช้แรงงานสัตว์ มาเป็นเครื่องจักรกลทางเกษตรขนาดเล็ก มีการนำรถไถ นำมาไถนาตามการสั่งซื้อสินค้าจากจีนและเครื่องสีข้าวเข้ามาใช้ทุ่นแรง รวมทั้งนำข้าวพันธุ์ที่ปรับปรุงใหม่จาการส่งเสริมมาปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเริ่มเปลี่ยนจากกระบวนการแลกเปลี่ยนมาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา มีการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดภายนอก ซึ่งเศรษฐกิจก็มีผลต่อการไม่มี ฆ่าหมูเลี้ยงในบ้าน เพราะปัจจัยในการนำเงินไปซื้อหมู ยกตัวอย่าง เช่น พิธีเซ่นไหว้ผีประจำตระกูลหรือผีบรรพบุรุษในบ้าน จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ได้ลงพื้นที่ภาคสนามไม่มีในบ้านป่าอ้อย เนื่องจากไม่มีรายได้เพียงพอ ต่อการใช้จ่ายค่า ซื้อหมูมาเลี้ยงต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน และรายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับจ้างมากกว่าการเกษตร

บ้านป่าอ้อย
สภาพหมู่บ้านป่าอ้อย ใช้น้ำบาดาล มีไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน วิถีชีวิตจากการเก็บข้อมูลทราบว่า คนห้วยทรายคนจนก็จนมาก คนรวยก็รวยมากเพราะการทำธุรกิจส่งออกการเกษตร ซึ่งแสดงถึงความแตกต่างทางฐานะ และชนชั้นอย่างมาก คนจนบางส่วนเริ่มผันแปรตัวเองไปเป็นแรงงานตามสวนกับโรงงานถ่านหิน เพราะสังคมเปลี่ยนผ่านจากการทำไร่ทำนา และเปลี่ยนทำสวนส่งออกการเกษตรยังประเทศไทย ที่ยังฝั่งชายแดนของฝั่งตรงข้ามบ้านป่าอ้อย คนลาวรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ต่างกัน ตรงที่ประวัติศาสตร์จากเดิมที่ลำบากผ่านการสู้รบการปกครองฝรั่งเศส สงคราม และคอมมิวนิสต์ มาเริ่มเปลี่ยนไปสร้างตัวตนทางเศรษฐกิจมากขึ้น เมื่อเปิดชายแดน สิบกว่าปี ขณะนี้คนรุ่นใหม่หลงใหลบ้านตึก มากกว่าบ้านไม้ที่เป็นเรือนหลังคาตูบ ต้องการไฟฟ้าใช้ทุกบ้าน ดูละครทีวีไทย ซื้อเสื้อผ้าไทย ฯลฯ จากเสื้อผ้าการแต่งกายแบบคนไทย ทำให้แน่นอนว่า อัตลักษณ์(Identity)การแต่งกายชาวขมุเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนมากที่สุด
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสปป.ลาวที่เปิดประเทศมากขึ้น ทำให้เกิดขบวนการส่งคนลาวและชาวขมุไปทำงานในกรุงเทพฯ แล้วส่งเงินกลับมาที่บ้าน เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเงินเข้ามาเป็นตัวกำหนดสร้างฐานะร่ำรวย เริ่มเปลี่ยนแปลงจากบ้านที่ไม่เคยมีไฟฟ้าใช้เริ่มนำไฟฟ้าเข้าบ้าน และความเจริญเติบโตของธุรกิจส่งออกการเกษตร ปัจจัยการผลิตของสวนขึ้นอยู่กับแรงงาน ที่มีลูกจ้างจากกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ
ปัญหาชาติพันธุ์ขมุ(ความเป็นชายขอบ?)ในบ้านป่าอ้อย ประสบกับความยากจนทั้งไม่มีที่ทำมาหากิน คือไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องรับจ้างตัดไม้ ทำสวน และได้ส่งลูกหลานไปรับจ้างขับรถพานักท่องเที่ยว ข้ามฝั่งทำงานในไทย และครอบครัวต้องอยู่อย่างประหยัดอดทน และปัญหาลูกมาก ส่วนบ้านสร้างตามฐานะทางเศรษฐกิจ บางบ้านปักเสาบ้านไว้ชั่วคราว ตัวอาคารสร้างไม่เสร็จ หรือบางบ้านเป็นเพียงเรือนไม้ ไม่มีรัฐคอยดูแลวิถีชีวิต วัฒนธรรม
ชาวขมุปรับตัวเข้าร่วมพิธีกรรมและความเชื่อ ดังเช่น พิธีกรรมแห่บั้งไฟ ที่จัดโดยชาวบ้านสะท้อนถึงความเป็นปึกแผ่นของสังคมที่หลงเหลือ อยู่ผูกพันกับความเชื่อเรื่องขอฝน ซึ่งความแตกต่างของความเชื่อชาวขมุ กับลาวลุ่ม แต่รัฐก็จัดการให้อยู่ร่วมกันได้โดยเข้ามาจัดพิธีกรรมนี้ด้วย

อนึ่ง จากปัญหาแนวทางการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเข้ามาในชายแดนแม่น้ำโขง และมีขนส่งสินค้าเกษตรข้ามฟากไทย-ลาว และการเดินเรือสินค้า ในลุ่มแม่น้ำโขงผ่านมาที่จุดจอดเรือรับสินค้าของเมืองห้วยทราย และเรือสำหรับพานักท่องเที่ยวไปหลวงพระบางของเมืองห้วยทราย ที่มีบริบทผลกระทบจากการพัฒนาในระดับประเทศ มาสู่จังหวัดในไทย-ลาว และชุมชนไทย-ลาว มีผลกระทบกับชาวขมุในระดับจุลภาคของสปป.ลาวในห้วยทราย บ้านป่าอ้อย จากโครงสร้างของอำนาจในอดีตการพัฒนาตามแนวคิดของเจ้าอาณานิคม และเศรษฐกิจ ได้ทำให้เหลือความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาวลดน้อยลง เมื่อมีแผนที่ คือผลของเทคนิควิทยาการของวิทยาศาสตร์แบ่งเขตแดนกัน จนกระทั่งในปัจจุบัน มีทั้งการใช้ดาวเทียมเพื่อการทำแผนที่ให้มีอาณาเขตชัดเจน ยิ่งขึ้นและวางแผนเดินเรือ หรือใช้ทรัพยากรของเขื่อนในประเทศลาวขายไฟฟ้าให้ไทยเป็นต้น นี้เป็นปัจจัยการพัฒนาของประเทศ รวมทั้งจากประเทศในภูมิภาคได้เปิดประเทศอีกครั้ง

ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ เแรงผลักดันทำให้เกิดคลื่นการรวมตัวเป็นกลุ่มภูมิภาคหรืออนุภูมิภาค อาจกล่าวได้ว่าเป็นพฤติกรรมของรัฐ และกลุ่มทุนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของทั้งสองนี้มีบทบาทสำคัญ โดยหลักตรรกะของกระบวนการสะสมทุน กลุ่มทุนข้ามชาติได้จัดองค์กรการผลิตของตนในระดับโลก ขณะเดียวกันรัฐก็พยายามรวมกลุ่มกันในระดับภูมิภาค เพื่อให้การช่วยเหลือแก่กลุ่มทุนแห่งชาติ เพราะต้องการเปิดพรมแดนใหม่ เพื่อการลงทุนที่สอดคล้องกับการเป็นพื้นที่สำหรับตั้งฐานการผลิตของกลุ่มทุน ทั้งทุนระดับข้ามชาติ ทุนเล็กระดับชาติ อีกทั้งทุนที่เติบโตภาคต่างๆ การสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของไทย
กระนั้นทุนที่เติบโตภาคต่างๆ การสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของไทย จะกลายเป็นอุดมการณ์ใหม่เป็นจุดขายของชนชั้นนำในสังคมเข้ามาทำหน้าที่เป็นวาทกรรมใหม่แทน ลัทธิพัฒนานิยม ด้วยเนื้อหาเดียวกัน แต่เรียกขานต่างกัน คือจุดหนักมุ่งสนองเติบโตเศรษฐกิจละเลยมิติความเป็นธรรมและสิ่งแวดล้อม(สุธี ประศาสน์เศรษฐ ,2537)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่ต้องกล่าวถึงของชาวขมุจะสัมพันธ์กับปัญหาระดับประเทศไทย-ลาว-จีน หรือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ-หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ และปัญหาระดับจังหวัด ที่มีผลกระทบจากการเปิดด่านไทย-ลาว ตั้งแต่ปีพ.ศ.2526 ความสัมพันธ์ดีขึ้น เปิดด่านเชียงของ กับห้วยทราย เกิดท่าเรือบั๊ก หรือแพขนานยนต์ ท่าเรือข้ามฟาก ท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่

จากการสร้างความหมายเปลี่ยนจากสนามรบเป็นสนามการค้า ปีพ.ศ.2532 เปิดจุดผ่านแดนถาวร มีการท่องเที่ยวส่งผลกระทบด้วย ปัจจุบันหลังเปิดจุดผ่านแดนสากล ปีพ.ศ.2537 จนถึงสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ดังกล่าวไปทั้งหมดแล้ว และปฎิบัติการของความหมายทางการร่วมมือในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ GMS ในอนุภูมิภาค นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางความสัมพันธ์ในวิถีชีวิต เพราะวาทกรรมว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกาภิวัตน์ที่ครอบคลุมภูมิภาคและรัฐชาติเข้ามาถึงระดับจังหวัดชายแดนในระดับชุมชน- หมู่บ้านป่าอ้อยที่โดนปัญหา การท่องเที่ยว การเดินเรือสินค้า ความยากจน ต่างๆที่มาพร้อมการพัฒนาทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ประเด็นดังกล่าวกับชาวขมุ ส่งผลให้ราวกับว่าชาวขมุกลายเป็น คนชายขอบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ ไม่มีความสำคัญเท่ากับบริบทในประวัติศาสตร์เลย

สรุป
อุดมการณ์ของโลกาภิวัตน์(Ideologies of Globalization )ได้เข้ามาครอบงำต่อชาวขมุ
เพราะว่าหลังสงครามเย็นของอุดมการณ์สังคมนิยม ได้มีการเปิดประตูการค้าสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจทับซ้อนด้วยผลประโยชน์ของนิยามการพัฒนา และโลกาภิวัตน์ในแม่น้ำโขงตอนบนต่อชาวขมุเอง ไม่ทราบถึงผลกระทบนี้ในระดับโครงสร้างขนาดใหญ่(เหมือนหมวกใบใหญ่ครอบหัว) เพราะตัวชาวขมุพบโซ่ปัญหาซ้อนปัญหา หรือกล่าวว่า โซ่เก่ารัดตัวแล้ว โซ่ใหม่กำลังรัดรอบหัวอีกด้วย โซ่ใหม่คือโลกาภิวัตน์ โซ่เก่า คือ ไม่มีพื้นที่ทำไร่ นา บนที่ราบ กับบนภูเขาแล้ว ทำให้ชาวขมุอพยพเข้ามาอยู่ในเขตตัวเมือง และเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการเกษตร เป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงาน ต้องขับรถพานักท่องเที่ยว ในเมืองห้วยทราย ดังที่ว่าโลกาภิวัตน์เป็นสองด้านซ้อนกันให้ชาวขมุ มีงานทำพานักท่องเที่ยว แต่วิถีชีวิตไม่เหมือนเดิมโดยมีการพิจารณาTransnationalism จากมุมมองของประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วรรณา(historical ethnography)งานศึกษาทางประวัติศาสตร์ การอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนความคิด วัฒนธรรม หากคนท้องถิ่นเป็นชั้นปกครองและมีสถานภาพทางสังคมและอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง เช่น ในไทย และใน สปป.ลาวเอง ชาวขมุ พยายามปรับตัวให้เป็นคนท้องถิ่น(assimilate)กลายเป็นคนท้องถิ่น หมายถึงโอกาสในการเลื่อนสถานภาพทางสังคม นี้เป็นกระบวนการสร้างพรมแดนทางเชื้อชาติแบ่งแยกระหว่าง คนท้องถิ่น และผู้มาเยือนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์จากที่กล่าวมาถึงบทบาทในอดีตทางชาติพันธุ์ และสังคมในปัจจุบัน ดังนั้นทำให้ความเป็นขมุของการเมืองด้วย
กระนั้นสาเหตุผลกระทบต่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตจากวาทกรรมการพัฒนาของรัฐ และภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พึ่งพิงเศรษฐกิจจากภายนอกของการท่องเที่ยว มีความสัมพันธ์ ระหว่างกับแม่น้ำโขงตอนบนของประเทศไทย อย่างไรก็ดีควรมีทางเลือกของการพัฒนาให้ชาวขมุ มีกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน ทำไร่ ทำนา มีพื้นที่เพาะปลูก และเตรียมนิยามของนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือมีข้อเสนอนโยบายป้องกันทางวัฒนธรรม กับรองรับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวขมุ




บรรณานุกรม

ภาษาไทย

เกษียร เตชะพีระ. 2538. วิวาทะโลกานุวัตร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผู้จัดการ.
คณะทำงานร่วมธนาคารแห่งประเทศไทย และ ธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. 2539. ปัญหาการค้าชายแดนไทย-ลาว (นครพนม-คำม่วน และเชียงราย-บ่อแก้ว). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
จิตร ภูมิศักดิ์.2547. ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม : อันเนื่องมาจากความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2546. “จากอาณานิคมาภิวัฒน์สู่โลกาภิวัตน์.” สารคดี 19, 225 (พฤศจิกายน 2546) :57-69.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.2543 วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และ
ความเป็นอื่น = Development discourse power knowledge truth identity and otherness.
กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก.
ธเนศวร์ เจริญเมือง. 2538.ไทย-พม่า-ลาว-จีน สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ สี่เหลี่ยมวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ.
ธีระ นุชเปี่ยม. 2541. การเมืองโลกหลังสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์.
เบลโล, วอลเดน คันนิงแฮม, เชียร์ และปอห์, ลี สวน. 2542. โศกนาฏกรรมสยาม : การพัฒนาและการแตกสลายของสังคมไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง.
ปารวี ไพบูลย์ยิ่ง. 2545. เส้นทางไทยเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน เชียงของ-หลวงน้ำทา-เมืองสิง-เชียงรุ่ง. กรุงเทพฯ: โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค.
ปราณี วงษ์เทศ.2543. สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์ = Ethnology of mainland Southeast Asia.กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม.
_________ . 2544. เพศและวัฒนธรรม = Gender and culture. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม.
_________ , ผู้แปล.2548. เกิดเป็นกำมุ ชีวิตและหมู่บ้าน. กรุงเทพฯ: มติชน.
ประชัน รักพงษ์.2539. การศึกษาสภาพเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชนในเขตเส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-ลาว-จีน = A study of economics and local culture in the economic quardrangle route Thailand-Laos-China. เชียงใหม่ : โครงการเพื่อนบ้านศึกษา สถาบันราชภัฏเชียงใหม่.
พวงนิล คำปังสุ์, ผู้แปล.2544. ลาวและกัมพูชา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง.
พันธุ์สูรย์ ลดาวัลย์, ม.ล. และ ศิริพงษ์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา. 2540. การกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย = The Making of Thai foreign policy. เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
_________ . 2540. ผลกระทบของโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจต่อประเทศไทย : รายงานการวิจัย. เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มหาคำ จำปาแก้วมณี และคณะ. ประวัติศาสตร์ลาว. แปลโดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต. 2539. ขอนแก่น: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
มหาสีลา วีระวงส์ม, ผู้เรียบเรียง. ประวัติศาสตร์ลาว. แปลโดย สมหมาย เปรมจิตต์.2535. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มานะ มาลาเพชร.2533. “ลาว.” เอเชียรายปี 1990/2533 :18.
ยุค ศรีอาริยะ.2544. มายาโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
_________ . 2544วิเคราะห์ระบบโลกในสหัสวรรษใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิวิถีทรรศน์.
วิภา อุตมฉันท์.2544. ผลกระทบของสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ข้ามพรมแดนระหว่างไทย-ลาว.
กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศุภชัย เจริญวงศ์. 2536. สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ:พัฒนาการของพรมแดนในความซับซ้อนของระบบโลก รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา ทฤษฏีพัฒนาสังคม ภาคการศึกษาที่ 2/2536. (อัดสำเนา).
สนมพรรณ วรวิเชียรวงษ์. 2544.ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศไทย-ลาวที่มีผลต่อการกำหนดภาวะการค้าชายแดน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุเทพ สุนทรเภสัช. 2540. มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์ : รวมความเรียงว่าด้วยการประยุกต์ใช้แนวความคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.
สุนทร คันทะวงศ์. 2543. การเปลี่ยนแปลงนโยบายการสื่อสารโทรคมนาคมของสาธารณรัฐ
ประชาธิปไตยประชาชนลาว จากการผูกขาดเข้าสู่การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ. วิทยานิพนธ์วารสารศาสตรมหาบัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงษ์. 2546. รายงานการวิจัยเรื่อง การศึกษาสถานภาพองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบคิดผ่านงานวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง. ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สุภรัตน์ เชาวน์เกษม. 2544. ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในทัศนะของคนลาว : กรณีกำแพงนครเวียงจันทน์. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุรชัย ศิริไกร. 2543. การพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองลาว. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สุวิไล เปรมศรีรัตน์. 2541 สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ. นครปฐม : สำนักงานวิจัยภาษาและ
วัฒนธรรมเอเซียอาคเนย์, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
สุธี ประศาสน์เศรษฐ .(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย).2537. อนาคตของวิเทศคดีศึกษาใน
ประเทศไทย : ศักยภาพและทิศทาง : เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ ; วันที่ 10-
11 พฤศจิกายน 2537 ณ โรงแรมแอมบาลเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา. กรุงเทพฯ: สำนักงาน
กองทุนสนับสนุนการวิจัย.
เสถียร ฉันทะ. ยศ สันตสมบัติ บก.[และคนอื่น ๆ] .2547.นิเวศวิทยาชาติพันธุ์ ทรัพยากรชีวภาพ
และสิทธิชุมชน. เชียงใหม่ : วิทอินดีไซน์.
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล.2546.อัตลักษณ์ : การทบทวนทฤษฎีและกรอบแนวคิด = Identity. กรุงเทพฯ :
คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ; สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
อรรคพล สาตุ้ม.2548. ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำ
โขงตอนบน : การหายไปของปลา. คณะบัณฑิตวิทยาลัย สาขาภูมิภาคศึกษา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อภิชัย พันธเสน. 2540. แปล, เมื่อบรรษัทครองโลก.กรุงเทพฯ : เสมสิกขาลัย.


ภาษาอังกฤษ
Evans, Grant. 2002. A Short history of Laos : the Land in Between. Chiang Mai : Silkworm Books, 2002.
“Greater Mekong Sub Region State-of-The Environment Report Mekong River Commission”.1997. Bangkok,Thailand June 1997. (Mimeograph).
“International Conference Impact of Globalization, Regionalism and and Nationalism on Minority Peoples in Southest Asia 15-17 November 2004” 2004. Chiang Mai:Thailand Social Research Institute Chiang Mai University.
Mark Rupert. 2000. Ideologies of globalization : contending visions of a new world order.
London ; New York : Routledge.
Mayoury Ngaosrivathana and Breazeale Kennon. 2002. Breaking New group in Lao History
Essays on the Seventh to Twentieth Centuries. Chiang Mai: Silkworm Books.
Mingsarn Kaosa-ard and Dore, John, eds. 2003. Social Challenges for the Mekong Region. Chiang Mai: Chiang Mai University.
Osborne, Milton. 2000.The Mekong : Turbulent Past, Uncertain Future. St Leonards, N.S.W.: Allen & Unwin.

วารสาร
ปฤษฐา รัตนพฤกษ์. ปัญหาข้ามพรมแดนและสภาวะไร้พรมแดนโลกที่เปลี่ยนไปหรือมุมมองของนักวิชาการที่เปลี่ยนไป? สังคมศาสตร์ ปีที่ 15 ฉบับ 1/2545 :39

รายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์
เริม บุญเรือน. 2546.เจ้าของสวน และขนส่งสินค้าเกษตร. สัมภาษณ์. 23 มิถุนายน 2546.
บุญเดช บุญเรือน.2547. ลูกเจ้าของสวน. สัมภาษณ์. 17 เมษายน 2547.
กั้ม (ไม่เปิดเผยชื่อจริง)และครอบครัว.2547.รับจ้าง. สัมภาษณ์. 14 เมษายน 2547.

หมายเหตุ: บทความนี้ นำเสนอในงานการประชุมเชิงวิชาการและนิทรรศการเรื่อง กลุ่มชาติพันธุ์กับการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วันพฤหัสที่ 22 มิถุนายน 2549 08.00 - 08.30 น. ลงทะเบียน หน้าโรงละคร คณะศิลปศาสตร์ 08.30 - 09.15 น. พิธีเปิด ณ โรงละคร คณะศิลปศาสตร์ การแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ จากแขวงเซกอง และอัดตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 09.15 - 10.15 น. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การศึกษากับการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” โดย Professor Dr. Jerald W. Fry ผู้อำนวยการสถาบัน International and Intercultural Education, University of Minnesota, USA 10.15 – 10.30 น. อาหารว่าง 10.30 – 12.00 น. การนำเสนอบทความ คาสิโน การท่องเที่ยวชายแดนและผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ไทย- เขมร โดย ผ.ศ. ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินรายการและวิจารณ์โดย ผ.ศ. ดร. สุชาดา ทวีสิทธิ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของชุมชนอาข่า ดอยสะโง๊ะ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดย ศิริพร โคตะวินนท์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการและวิจารณ์โดย อ. วัชรี ศรีคำ เขื่อนกับความรุนแรงและขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของชนพื้นเมืองในจังหวัดรัตนคีรี ประเทศกัมพูชา โดย ผศ. สมหมาย ชินนาค มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินรายการและวิจารณ์โดย ดร. ศรันย์ สุดใจ 12.00 – 13.00 น. อาหารกลางวัน 13.00 - 14.30 น. บรรยายพิเศษ เรื่อง “ประสบการณ์การทำหมู่บ้านชนเผ่าในอุทยานแห่งชาติบาเจียง แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” โดย คุณวิมล กิจบำรุง เจ้าของโครงการอุทยานแห่งชาติบาเจียง 14.30 – 14.45 น. อาหารว่าง 14.45 - 16.30 น. การเสนอบทความ พัฒนาการสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวสองฝั่งโขง โดย ดร. นพดล ตั้งสกุล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินรายการและวิจารณ์โดย อ. ติ๊ก แสนบุญ ปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าสู่อาชีพขายของที่ระลึกของผู้หญิงม้ง ในเมืองซาปา จังหวัดหล่าวกาย ประเทศเวียดนาม โดย อ. วัชรี ศรีคำ มหาวิทยาลัยอุบล ราชธานี ดำเนินรายการและวิจารณ์โดย ผศ. กิติพร โชประการ ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อชาวขมุระหว่างแม่น้ำโขงตอนบน ไทย – ลาว โดย นายอรรคพล สาตุ้ม โรงเรียนยอแซฟ จังหวัดพิจิตร ดำเนินรายการและวิจารณ์โดย อ. ธวัช มณีผ่อง วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2549 09.00 - 10.30 น. การนำเสนอบทความ แผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดชายแดนไทย–กัมพูชา: เครื่องมือจัดการทรัพยากรโดยชุมชน โดย รศ. เสาวภา พรสิริพงษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการและวิจารณ์โดย ผศ. ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ รัฐฉานในช่วงสมัยอาณานิคม : รากฐานความขัด แย้งทางอัตลักษณ์ไทใหญ่ หรือปมแตกหักความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ โดย นายอาสา คำภา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการและวิจารณ์โดย ดร. อินทิรา ซาฮีร์ ชุมชนหาดวี : อัตลักษณ์ชาติพันธุ์บนพื้นที่กายภาพเฉพาะของชนเผ่าเกรียง เมืองกะลึม แขวงเซกอง สปป.ลาว โดย รศ. ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ มหาวิทยาลัยมหา สารคาม ดำเนินรายการและวิจารณ์โดย ผศ. สมหมาย ชินนาค 10.30 – 10.45 น. อาหารว่าง 10.45 – 12.00 น. เสวนาโต๊ะกลม เรื่อง การพัฒนาชีวิตและวัฒนธรรมของชนเผ่าในแขวงเซกองและอัดตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย ท่านสีวิไล จันทะวง หัวหน้าแผนกวัฒนธรรมแขวงเซกอง ท่านคำพอน หัวหน้าแผนกวัฒนธรรมแขวงอัดตะปือ ดำเนินรายการโดย ผศ. สมหมาย ชินนาค 12.00 – 13.00 น. อาหารกลางวัน 13.00 – 14.45 น. เสวนา เรื่อง การจัดการความรู้ทางชาติพันธุ์ในสถาบันการศึกษาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผศ. ดร. สุชาดา ทวีสิทธิ์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รศ. ดร. เยาวลักษณ์ อภิชาติวัลลภ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร รศ. ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ. สันติพงษ์ ช้างเผือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ดำเนินรายการ : อ. ธวัช มณีผ่อง 14.45 – 15. 00 น. อาหารว่าง 15.00 – 16.00 น. บรรยายพิเศษ "กลุ่มชาติพันธุ์กับการพัฒนาในลุ่มน้ำโขง : การสังเคราะห์ภาพรวมและโจทย์การวิจัยที่ท้าท้าย โดย ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ 16.00 – 16.30 น. พิธีปิด เชิญชมนิทรรศการ “วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ณ บริเวณหน้าโรงละคร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีการสาธิตการทอผ้ากี่เอว ของชนเผ่าตะเลียง แขวงอัดตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมทั้งเลือกซื้อผ้าทอมือสลับลูกปัด อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่หาชมได้ยากของชนเผ่าตะเลียง
webmaster of http://www.semsikkha.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น